24 ตุลาคม 2564
อีกสิบนาทีเที่ยงคืน เพิ่งกลับมาจากคอนโดของเพื่อน คุยกันหลายเรื่องจนต้องรีบกลับมาจดโน้ตเอาไว้คิดต่อ เมื่อคืนในคลับเฮาส์ของบทจร คุยกันต่อภาคสองเรื่อง Cancel Culture ว่ามันหนักหนาจนถึงขั้นสร้าง Chilling Effect ให้คนไม่กล้าแสดงความเห็นจริงไหม หรือเรื่องนี้ไม่ต้องไปแคร์มาก เพราะอย่างไรก็เป็น Social Movement ที่ไม่กระทบแรงเท่าการกดขี่จากรัฐ (นี่เป็นประเด็นจากรอบแรกที่เราก็ไม่ได้ฟัง)
เพื่อนเล่าว่า ประเด็นของรอบสองจะเป็นมุม accommodation คือ ลำพังแค่การ call out มันไม่พอ แต่มันต้องมีกลไกที่สร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง
ในวงสนทนาก็มีคนเสนอว่า ในทุกการเปลี่ยนแปลงเพื่อการเปลี่ยน norm มันอาจจำเป็นที่จะต้องหาทางที่จะ 'แทรกตัว' ขึ้นมาแสดงออกถึงจุดยืนหรืออัตลักษณ์ โดยที่วิธีการนั้น อาจทำให้ฝ่ายที่คิดต่างต้อง 'หุบปาก' เงียบแม้จะไม่เห็นด้วย ซึ่งมันก็คือวิธีการที่ทำให้กลุ่มที่เคยมีอำนาจกลายเป็นฝ่ายตัวฟีบลงบ้าง แล้วทำทีเหมือนว่าจะ normalize เรื่องนั้นๆ
ก็มีข้อโต้แย้งว่า วิธีการแบบนี้ มันก็คือการกดทับ ใช้วิธีการเดียวกับการฝ่ายกดขี่เลย แล้วเราโอเคกันไหม เมื่อแท้จริงแล้ว คนมันไม่ได้ยอมรับหรอก แต่แค่ไม่กล้าแสดงความเห็นต่างเท่านั้น
ตัวอย่างที่เห็นชัดและเราควรเรียนรู้คือ อะไรแบบนี้ มันเป็นระเบิดเวลา เช่นกลุ่ม white supremacist ผุดออกมาเหมือนโลงป่าช้าแตกเมื่อคราว โดนัลด์ ทรัมป์ หาเสียง เพราะโลกก่อนหน้านั้น แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมมันถูกนำมาใช้งานแบบปิดปากคนที่ไม่เชื่อ โดยฝังกลบความเกลียดชังเอาไว้ แต่ไม่ได้มาจากการยอมรับอย่างจริงใจ
อีกตัวอย่างเช่น LGBT+ เรียกร้องให้เกิดการยอมรับในความหลากหลาย แต่กลุ่มความหลากหลายยอมรับได้ไหมถ้ากลุ่ม hetero ไม่ชอบคนรักเพศเดียวกัน แล้วถ้ารสนิยมนี้ไม่ได้มาขัดขวางรบกวนอัตลักษณ์อื่น จะสามารถยอมรับกันได้ไหมที่จะให้ที่ยืนคนกลุ่มนี้ได้แสดงออก
ตรงนี้ก็มีคนเสนอว่า ถ้าจะทำให้เรื่องเหล่านี้ดูเป็นเรื่องปกติ มันก็อาจจะจำเป็นที่ต้องมีระยะหักดิบก่อน... ส่วนตัวไม่ยอมรับตรงนี้เลย มันเหมือนพูดว่าต้องยอมรับรัฐประหารเพื่อจะนำไปสู่หนทางประชาธิปไตย
เสร็จแล้วก็มีการเปรียบเปรยว่า มันอาจจะต้องมีดาบสองประเภท คือดาบที่เอาไว้รับมือศัตรู กับดาบที่เอาไว้ลับคมมิตร / ตรงนี้ก็ไม่ค่อยซื้อไอเดีย แต่ขำที่มีคนบอกว่า ดาบพวกนี้ถูกออกแบบมาให้ไม่มีฝัก เน้นเอาไว้โชว์
เราคุยกันต่ออีกนิดเรื่องผ้าคลุมบุรกาของมุสลิมที่ให้ผู้หญิงคลุมทั้งกายเว้นไว้แต่ดวงตา แต่เราจำไม่ค่อยได้ละ แก่แล้ว วันหลังต้องจดไวๆ แต่ประมาณว่า จะมองทุกกรณีที่สวมผ้าคลุมว่าเป็นความรุนแรงได้หรือไม่ แล้วรัฐบาลฝรั่งเศสที่พยายามรับมือความรุนแรงในครอบครัวด้วยการออกกฎทางอ้อมให้ห้ามใส่ผ้าคลุมนั้น มันมีทั้งเจตนาที่ดีและสิ่งที่แก้ไม่ตรงจุดอย่างไรบ้าง
จากเรื่องเหล่านี้ เราคุยกันต่อเรื่องงานนิดหน่อย และข้ามซีกมาคุยถึงงานวิจัยสายสื่อสารมวลชนตัวหนึ่ง ที่พูดเรื่อง Echo Chamber ในโซเชียลมีเดีย ข้อเสนอในการวิจัยนั้นชี้ว่า มันจำเป็นที่จะต้องมีตัวเชื่อมหรือสะพาน เพื่อสานเสวนาระหว่างกลุ่ม ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพูด
แต่งานนั้นมันหลายปีแล้ว ตัวอย่างของ 'สะพาน' ในงานวิจัยชิ้นนั้นหลายตัว มาตอนนี้ก็คือเป็นสะพานที่ขาดไปแล้ว บทบาทของคนที่พยายามอดทนสื่อสาร เดินทางมาถึงจุดที่สิ้นหวัง แล้วเปลี่ยนจากสะพานมาเป็นเครื่องด่ากันแล้ว
ตัวเราก็ไม่แน่ใจว่า ไอ้สะพาน หรือที่ทุกความเคลื่อนไหวมักเรียกร้องการ compromise มันเป็นแค่คำตอบทางทฤษฎีให้สบายใจ แต่ปฏิบัติจริงไม่ได้หรือเปล่า
ตอนนี้เราก็ไม่เชื่อในการประนีประนอม เส้นต่ำสุดที่เราจะเรียกร้องคือ คิดไม่เหมือนกันต้องไม่โดนลงโทษ ไม่เข้าคุก ซึ่งรวมถึงไม่โดนแบน และอย่าเรียกร้องให้ต้องรักกัน แต่ควรเรียนรู้ที่จะมองเห็นอคติ ความเกลียดชัง แล้วอยู่ร่วมกันไป ดีกว่าต้องมาฝืนใจว่าต้องรักและยอมรับกัน
อย่างไรก็ดี วันนี้ได้กินเค้กแสนอร่อย และขนมจีนน้ำยาปู เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้กินแกงรัญจวน และพะโล้วากิว อิ่มอร่อยมาก รวมบทสนทนาในวันนี้ปาเข้าไป 5 ชั่วโมงกว่า
กลับไปที่ย่อหน้าแรกๆ คือ มันอาจจะต้องคิดไอ้กลไกระหว่างทางกันให้มากขึ้นจริงๆ
00:32 / 25 ตุลาคม
Comments