นึกถึงหอศิลป์แห่งหนึ่งที่คนรุ่นเราไม่มีโอกาสได้ไป และไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับมันมากนัก เป็นหอศิลป์ใจกลางเมืองที่ชื่อว่า 'หอศิลป พีระศรี'
ถ้าใครเข้าซอยสาทร 1 จะยังพบว่า หอศิลป พีระศรี ยังคงมีอยู่ เป็นอาคารร้าง รกชัฏ ... ก็มันถูกปิดตัวลงไปเกือบจะ 20 ปีแล้วนี่นา
เราเคยเข้าไปในนั้นครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2545 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้ายที่หอศิลป พีระศรีได้ถูกใช้เป็นสถานที่แสดงงานอีกครั้ง ศิลปิน 17 คน ร่วมกันจัดงานแสดงศิลปะที่ชื่อว่า 'Present Perfect' - - ปัจจุบันกาลที่สมบูรณ์ ยังจำได้ว่า เป็นการแสดงผลงานเพื่อรำลึกถึงหอศิลป พีระศรี และเป็นความคาดหวังให้มีการบูรณะหอศิป พีระศรีขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
bact' ผ่านไปแถวนั้น และเอื้อเฟื้อรูปถ่ายมาให้เรา แปลกดี เราพบร่องรอย (ผ่านรูปถ่ายของ bact') ของชื่องานนิทรรศการเมื่อ 4 ปีก่อน ที่ยังไม่ถูกแกะออก ... หอศิลป์ พีระศรี กลับมาร้างเหมือนเดิม
แม้จะไม่มีความทรงจำกับมันมากนัก แต่ก็อยากให้มีหอศิลป์ใกล้ๆ ตัว เสียดายพื้นที่ตรงนี้จัง และไม่อยากให้ความทรงจำอันเล็กน้อยเกี่ยวกับที่นี่หายไป เราจึงไปค้นข้อมูลเก่าๆ ที่เคยตีพิมพ์ลงในหน้าจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ พบว่าหายไปจากสารบบทางอินเทอร์เน็ตเสียแล้ว จึงขอนำมาแก้ไขตัดตอนเล็กน้อย เป็นประวัติศาสตร์เล็กๆ ให้พอรู้จักสถานที่แห่งนี้มากขึ้น
*******
เซ็คชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ 23 ธันวาคม 2545
หลังจากหอศิลป พีระศรี เปิดตัวในฐานะสถานศิลปะนาน 14 ปี ถูกปิดเป็นเวลาต่อเนื่องนานถึง 14 ปี ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2545 หอศิลป พีระศรี เปิดแสดงงานศิลปะอีกครั้ง ภายใต้ชื่องานที่สมกับประวัติศาสตร์สถานที่ว่า 'Present Perfect' โดยความร่วมมือของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มูลนิธิจุมภฏ พันธุ์ทิพย์ และมูลนิธิหอศิลป พีระศรี จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
หอศิลป พีระศรี เคยเป็นสถานที่ที่มีบทบาทต่อวงการศิลปะไทย เคยเป็นแรงบันดาลใจของศิลปินหลายต่อหลายคน แต่ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดหลายประการ ทำให้หอศิลป์แห่งนี้ต้องปิดตัวลง
ความทรงจำในอดีต และความขาดแคลนพื้นที่ทางศิลปะ ส่งผลให้ศิลปินจำนวนหนึ่งคาดหวังว่า พอศิลป พีระศรี จะกลับมาเป็นสถานที่แสดงออกทางศิลปะอีกครั้ง
ศิลปินทั้งหมดมีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของวัยและแนวคิดการสร้างผลงาน
"เราเชิญศิลปินโดยแบ่งเป็น 3 รุ่น ที่เติบโตมาควบคู่กับหอศิลป, รุ่นที่เติบโตมากับหอศิลป, แล้วก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นคนรุ่นใหม่ที่รู้จักหอศิลป พีระศรี ผ่านห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ผ่านสูจิบัตร หรือที่อื่น แต่ไม่เคยเห็นของจริง พอมาเห็นของจริงหอศิลปก็ปิดไปแล้ว เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่มาเข้าร่วมกับพื้นที่จะแตกต่างกันออกไป"
ภัณฑารักษ์คนเดิมกล่าวว่า คนทั้ง 3 รุ่นยังมีความแตกต่างในแง่การใช้สื่อสร้างสรรค์ มีทั้งแนวจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง (Installation) ศิลปะแสดงสด (Performance) และ Media Art อื่นๆ เช่น ภาพถ่าย ภาพยนตร์ โดยเนื้องานทั้งหมด กลมกลืนกับพื้นที่แสดง ทำให้เห็นความเคลื่อนไหวหลากหลาย "เรามีหอศิลป์ไม่กี่แห่งในสังคมไทย ตอนนั้นหอศิลป พีระศรี ถือเป็นหอศิลป์หลักของกรุงเทพฯ ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ตอนนี้หอศิลป พีระศรีก็หายไป ในกรณีหอศิลป์กรุงเทพมหานครจะเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่าก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องคาดหวังกันไป ทำให้เราคิดว่า พื้นที่ที่มีอยู่แล้ว เอามาใช้ดีกว่าไหม ไม่ต้องไปคาดหวังไกลนัก มันอาจนำความผิดหวังมาให้เราก็ได้" อ.สรรเสริญ มิลินทสูต หนึ่งในศิลปินร่วมแสดง กล่าว
แนวคิดเรื่องการขาดแคลนพื้นที่ทางศิลปะนี้ ถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานของศิลปินหลายท่าน ดังเช่น อ.กมล เผ่าสวัสดิ์ ที่นำเสนองานชุด Input - Output ในเชิงปรัชญาสะท้อนสังคมมนุษย์
Input - Output เป็นผลงานศิลปะที่แสดงขึ้นในรูปแบบของห้องสุขาถูกจัดไฟใส่สีแปลกตาออกไป และยังทำหน้าที่เป็นสุขาของงานนิทรรศการแห่งนี้ด้วย
อ.กมล มองว่า ธรรมชาติมนุษย์มีการแสดงออกทางศิลปะมาแต่อดีต ไม่ว่าจะมีสถานที่แสดงศิลปะโดยตรงหรือไม่ก็ตาม ทว่าปัญหาคือ งานศิลปะในอดีตยังขาดระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อค้นคว้าย้อนหลัง
"ศิลปะมันเป็นภาษาภาษาหนึ่งอยู่ในชีวิต แม้แต่ในระดับพื้นบ้านหรือศิลปะขั้นสูง ศิลปะมันกระจายไปหมด สิ่งที่มนุษย์จะเอาออกมาเป็นงานศิลปะก็คือข้อมูลที่เกิดขึ้นในสังคม เข้าสู่ตัวศิลปิน แล้วถ่ายทอดออกมา ทำนองเดียวกับที่มนุษย์มีความต้องการ คือการกิน แล้วก็ต้องมีสถานที่ที่ต้องขับถ่าย ถ้าไม่มีห้องน้ำคนก็ต้องเข้าข้างถนน พุ่มไม้ หรือในป่า แล้วเราต้องการให้ศิลปะมันกระจัดกระจายเหมือนคนที่ไม่มีห้องน้ำหรือเปล่า" อ.กมล อธิบายเกี่ยวกับผลงานที่เป็นห้องสุขาในพื้นที่หอศิลป พีระศรี
"หอศิลปนี้เป็นหอศิลปที่ทิ้งมานาน เพราะฉะนั้น ความสะดวกของคนที่เข้ามาก็เข้าห้องน้ำได้ด้วย แทนที่เราจะทำธรรมดา ผมก็ปรับแสงไฟ แต่เราจะไม่คุ้นหากไฟที่อยู่ในห้องน้ำหอศิลปมีลักษณะเหมือนไฟในสถานราตรี ความไม่คุ้นนี้ก็ไม่แตกต่างกับเวลาที่เราเข้าไปดูงานศิลปะ บางชิ้นเราก็ไม่คุ้น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบโดยตรง"
ประพนธ์ คำจิ่ม นำเสนอผลงานภาพถ่ายแนวแฟนตาซี ที่คละเคล้าระหว่างความหวังและจินตนาการในห้วงทะเล (Perfect Picture)
"ผมใช้ภาพของทะเลมาผ่านกระบวนการหลอกลวงแล้วก็นำเสนอ มันเป็นภาพนิ่งที่ดึงออกมาจากวิดีโอ เป็นงานผสมผสานระหว่างภาพถ่ายกับภาพพิมพ์ สมัยนี้เราอยู่ในยุคของโฟโต้ช้อป ผมก็ใช้เทคนิคที่ดูเหมือนโฟโต้ช้อปเบสิค แต่จริงๆ ไม่ใช่ มันคือภาพถ่ายจริง แต่เราเห็นเราก็ไม่เชื่อแล้วว่ามันจริง คือภาพนี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการใดๆ แต่ถูกทำให้เชื่อว่าผ่านกระบวนการมา"
ขณะที่ผลงานของทักษิณา พิพิธกุล เสนอผ่านจอบนพื้นที่ในอดีตที่เคยเป็นมุมฉายหนัง "ผมคิดว่าถ้าเอาหนังมาฉายตรงนี้ ก็เหมือนเป็นการพูดถึงภาพเคลื่อนไหวอีกครั้ง แต่เป็นการเคลื่อนไหวทีเราทำในปัจจุบัน"
ภาพบนจอแสดงมุมมองว่าด้วย 'ผู้ชายอยากโกนหนวด ผู้หญิงอยากตัดผม'
"ผมใช้ทั้งสองสิ่งที่มันไม่น่าจะอยู่ด้วยกันได้ มาอยู่ด้วยกัน แล้วก็ทำให้เกิดบริบทบางอย่างที่มาพูดคุยว่า สิ่งที่เป็นภาพลักษณ์ที่คนอาจจะเห็นแล้วตลก เห็นแล้วชอบ เห็นแล้วกลัว ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนดูซึ่งจะมีภาพความคิดล่วงหน้าต่อสิ่งนั้นๆ ไว้แล้ว"
ไม่เพียงศิลปะหลายแขนง แต่นิทรรศการนี้ยังรวบรวมบทความจากนักวิชาการ ภัณฑารักษ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ จำนวน ๕ คน ซึ่งมีที่มาแตกต่างกันภายใต้โจทย์เดียวกันกับงานศิลปะ
"เมื่อเราจะพูดถึงเรื่องการขาดแคลนพื้นที่ทางศิลปะ ก็อยากให้เกิดการสนทนา ให้มีกระบอกเสียง แต่ก็ไม่อยากให้รู้สึกว่าศิลปะอยู่ในกรอบของการศึกษาอย่างเดียว ศิลปะออกมาหาพื้นที่ข้างนอกได้ เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาอื่นได้ด้วย" อ.อรรฆย์ กล่าวเสริม
ตัวอย่างบทความชิ้นหนึ่งเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวทางศิลปะ กับความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดกระทรวงวัฒนธรรมว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีกระทรวงวัฒนธรรมมาแล้ว แม้จะไม่มีบทบาทมากนัก แต่นับว่าการเกิดใหม่ในปัจจุบันแสดงถึงความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดการผลักดันจากแวดวงศิลปะร่วมกับส.ว.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ จนเกิดสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในกระทรวงวัฒนธรรมได้ในที่สุด
"ศิลปะมีความเคลื่อนไหวตลอด หอศิลป พีระศรี ที่เกิดแล้วหยุด แล้วกำลังจะเกิดใหม่ ก็เหมือนกับงานวัฒนธรรมเดิม ศิลปะร่วมสมัยที่เกิดขึ้นแล้ว คนนึกว่าหยุด แต่ยังไม่หยุด ยังดำเนินการอยู่" รศ.วิโชค มุกดามณี ผู้เขียนบทความชิ้นหนึ่งแถลงไว้เช่นนั้น
หอศิลป พีระศรี นอกจากจะมีความหมายในฐานะรอยเชื่อมศิลปะสมัยเก่ากับศิลปะสมัยใหม่ ยังเป็นรอยต่อระหว่างศิลปะสมัยใหม่กับศิลปะร่วมสมัย
ในระยะเวลาที่ขาดแคลนพื้นที่การแสดงออกทางศิลปะ นิทรรศการ Present Perfect อาจเป็นตัวบ่งชี้เล็กๆ ว่าสังคมไทยต้องการพื้นที่ทางศิลปะเพียงใด และหอศิลป พีระศรี ควรกลับมาหรือไม่
*******
ขอบคุณ bact' อีกครั้งที่เอื้อเฟื้อภาพถ่ายหอศิลป พีระศรี ในปี 2549 มาให้
Comments
แค่ตอนนั้นผ่านไปแล้วก็งง ๆ ว่า เอ๊ะ นี่มันอะไรน่ะ
จริง ๆ เป็นเรื่องบังเอิญด้วยแหละ เพราะว่านั่งรถเมล์เลยป้าย ก็เลยได้เดินเข้าซอยงามดูพลี แล้วมั่ว ๆ ทะลุไปออกสาทร 1 ก็เลยได้เจอ แล้วก็ถ่ายรูปเก็บมา
ตอนที่ถ่ายยังไม่รู้เลยว่าถ่ายอะไรมา :P
"ศิลป์ พีระศรี" หรือ "ศิลป พีระศรี" ??
เห็นมีใช้ทั่วไปทั้งสองอย่าง ไม่รู้อันไหนถูก
เข้าลิงค์สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไปแล้ว แต่เป็นหน้ากลาง ... มีข้อมูลไรเหรอ
ปลุกตำนาน หอ "ศิลป์ พีระศรี"
หอศิลป์นี้ใช่ที่อยู่ตรงสาธรซอยหนึ่งป่าวอ่ะ คุ้น ๆ มันโทรมมาก ๆ เลย ยังจะมีคนใช้อีกหรือ
ยินดีที่ได้เจอกันอีกครั้งจ้ะ
กติกาเปฉะ
สำหรับ 20 คนผู้จะมาเล่าไอเดียสร้างสรรค์ของตนในงาน
1. เตรียมรูปผลงานที่จะพรีเซนต์จำนวน 20 รูป โดยแต่ละรูปเซฟเป็นไฟล์ขนาด 1024 x 768 pixels และเป็นไฟล์ .jpg
- หากต้องการเสนอผลงานเป็นภาพเคลื่อนไหว ไม่ใช่ภาพนิ่ง ก็ขอให้เป็นไฟล์ความละเอียดอย่างน้อย 640 X 480 ที่เปิดด้วยโปรแกรม Quicktime ได้ และมีความยาวรวมทั้งหมดไม่เกิน 7 นาที)
- ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ขนาดไฟล์รวมทั้งหมดไม่ควรเกิน 700 เมกะไบท์ (700 MB)
2. กรอกรายละเอียดเล็กน้อยในตัวอย่างข้างล่าง
2.1 ชื่อ-นามสกุล (จะเป็นชื่อบุคคล, กลุ่ม, บริษัท ก็ได้)
2.2 ที่อยู่ที่สะดวกต่อการติดต่อ
2.3 โทรศัพท์ (บ้าน, ออฟฟิศ, มือถือ)
2.4 อีเมล์
2.5 เว็บไซต์ (ถ้ามี)
2.6 ในการพรีเซนต์ คุณอยากให้เราแนะนำคุณด้วยชื่อนามสกุลของคุณเองเท่านั้น หรือจะใช้ชื่อกลุ่ม, ชื่อบริษัท, ชื่อสถาบัน ของคุณด้วย
2.7 รายละเอียดสั้นๆ เกี่ยวกับผลงานที่คุณจะพรีเซนต์
3. ส่ง 1 และ 2 มาที่ pechakuchabkk@gmail.com
เว็บ
http://www.pechakuchabangkok.com/?b1=1
หอศิลปนี้ไม่เคยไปเลยค่ะ-*- แต่แค่เคยได้ยินข่าวมานิดหน่อย-*- ...
สวัสดีค่ะพี่^^... ฝ้ายค่ะ เจอกันที่งานโอเพนเฟสวันนั้น.. พอดีวันนั้นลืมให้บล๊อค..ตามมาทิ้งไว้ให้ค่ะ..^^