Polish food: อาหารกับความทรงจำ



สิ่งที่เด่นที่สุดใน Poland เห็นจะเป็นประวัติศาสตร์อันร้าวราน เป็นรัฐที่เรียกได้ว่าอยู่ใจกลางยุโรปตะวันออก ซึ่งก็โดนแย่งชิงครอบครองจากก๊กต่างๆ รอบข้างจนเคยหายไปจากแผนที่โลก พอจะฟื้นประเทศขึ้นมาก็เกิดสงครามโลก และกลายเป็นพิกัดใหญ่ที่นาซีมุ่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว 

ความช้ำแล้วช้ำอีก แทบจะทำให้โปแลนด์แทบไม่มีประวัติศาสตร์และความทรงจำอะไรที่ไม่มีความโศกเศร้าสูญเสียเป็นใจกลางของเรื่อง

หากมา Warsaw เมืองหลวงปัจจุบัน ก็เหมือนคนที่ภายนอกแต่งตัวน่าเบื่อ แต่พอคุยด้วยแล้วจะรู้สึกว่าตัวตนไม่ใช่อย่างที่เห็นภายนอก ซึ่งก็คงมาจากประวัติศาสตร์ของมัน ตึกรามบ้านช่องมีกลิ่นอายคอมมิวนิสต์ มี Old Town ที่ใหม่ที่สุดในยุโรป เพราะมันต้องสร้างตัวขึ้นมาใหม่จากดินแดนที่เคยถูกเผาจนราบเป็นหน้ากลอง แต่เมื่อเข้าไปในพิพิธภัณฑ์จะพบลูกเล่นตื่นตาตื่นใจ ซึ่งโครงการสร้างเมืองเก่าขึ้นมาใหม่นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามฟิ้นฟูอัตลักษณ์ (บางอย่างก็แปลกๆ เช่นตึกเวิ้งหนึ่งมีสไตล์ซ่อนอยู่สามแบบและแหมะเอาซากกระเบื้องของตึกเดิมที่เคยถูกระเบิดมาแปะเอาไว้ คือพยายามเก็บความทรงจำเต็มที่) พอเดินทางไป Kraków อดีตเมืองหลวง จะพบแหล่งอารยธรรมสวยงามมากมาย ยังไม่นับบุคคลโปแลนด์พลัดถิ่นจำนวนมากที่มีอิทธิพลต่อโลกนี้



ก่อนเดินทางมา ก็จินตนาการว่าโปแลนด์คงเป็นที่เทาๆ หม่นๆ และไม่มีอะไรให้รู้สึกสบายใจ แต่สิ่งที่ผิดความคาดหมายคือ อาหารอร่อยชะมัด! จนต้องแปลกใจว่า ที่ที่เจอภัยสงครามตลอดเวลามันมีเวลาสร้างอารยธรรมด้านอาหารด้วยเรอะ มันดูไม่น่าจะมีเวลามาประณีตกับการครัวและเกษตรกรรม แต่อย่างที่บอกว่าโปแลนด์ดูเหมือนไม่มีอะไรเป็นของตัวเองนอกจากเรื่องเศร้า หลังจากกินแล้วอร่อย จึงสงสัยถึงกับต้องค้นดู เจอบทความนี้ 
http://www.economist.com/blogs/easternapproaches/2013/08/poland ที่ตั้งข้อสังเกตไว้ทำนองเดียวกันว่า หลังยุคคอมมิวนิสต์ครองเมืองนานกว่า 40 ปี จนดูเหมือนว่า มันฝรั่งกะชีสแบบน่าเบื่อๆ กลายเป็นของประจำโต๊ะอาหาร ร้านค้าก็มีแต่ฟาสต์ฟู้ด ต่อมาก็ปรากฎว่าคนรุ่นหลังๆ มีความพยายามย้อนอดีตกลับไปค้นตำราอาหารโปลิชที่เคยทำก่อนยุคสงคราม และคนรุ่นนี้ก็จะพิถีพิถันกับมันมากๆ 

ส่วนตัวยังจับคาแรคเตอร์มันไม่ได้ รู้แค่มันมีเกี๊ยวคล้ายของจีน และอาหารส่วนใหญ่เสิรฟคู่กับ beetroot และ แตงกวาดอง และกินอะไรก็อร่อยไปหมด อุอิ




ตัวอย่างของลูกเล่นในพิพิธภัณฑ์ Copernicus Science Centre มีโซนนึงพูดถึงกลไกการรับรู้ทางจิตวิทยากับการเซ็นเซอร์ชิปแบบพร็อบพากานดารัสเซีย โดยจัดแสดงเป็นแบบ interactive มีข้อความต้นฉบับแล้วให้เราไปจิ้มว่า ประโยคไหนต้องถูกแก้ไข เท่านั้นไม่พอ มันถามด้วยว่า เวอร์ชั่นที่ถูกแก้นั้นเป็นอย่างไร มันคงไม่อะไรหรอกถ้าเนื้อข่าวที่หยิบมามันดูปฏิปักษ์ต่อขั้วใดขั้วหนึ่ง แต่เปล่าเลย มันคือ ข่าวกีฬา ....





Comments