บอกต่อ แบ่งปัน บังตา อิทธิพลการแชร์ซ้ำแล้วซ้ำอีก

วัฒนธรรมดราม่า เปรียบแล้วก็คงเหมือนการทำข่าวปิงปอง

ข่าวปิงปองกับสื่อดราม่าน่าจะเหมือนกันตรงที่ อ่านง่ายอ่านสนุก ผลิต(เสี้ยม)ไม่ยาก เดินเรื่องด้วยความขัดแย้ง และหลายครั้งทำให้ประเด็นเพี้ยน

แต่ในโลกอินเทอร์เน็ต เรายังจำเป็นต้องซีเรียสไหมกับเนื้อหาแบบนี้ จะใช้ข้ออ้างที่ตอบแทนสื่อได้ทุกกรณีว่า เดี๋ยวคนอ่านก็จะรู้เท่าทันเอง (ดังนั้นสื่อจึงไม่ต้องระวังมาก) จะคิดแบบนั้นก็ได้แต่มันไม่สนุกและดูสิ้นหวัง

ความซีเรียสมันคงต่างกัน สื่อหนังสือพิมพ์และทีวีมีพื้นที่กระดาษและเวลาออนแอร์อย่างจำกัด แถมข่าวปิงปองก็เก่งเรื่องแย่งซีนเสียด้วย ดังนั้นข่าวปิงปองในตัวมันเองนั้นจะสร้างหรือจะเสื่อมก็ไม่รู้ แต่ข่าวทุกข่าวต่างแย่งทรัพยากรแง่พื้นที่กระดาษและเวลาการนำเสนอเรื่องอื่นๆ ที่มันดึ๋งดั๋งน้อยกว่าไป

อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นสื่อแบบ on demand ย่อมไม่เหมือนหนังสือพิมพ์และทีวี คำถามคือ เรื่องดราม่า สร้างอะไรขึ้นมาบ้าง และส่งลูกชิ่งยังไงบ้าง? ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนแชร์ข่าวเดียวกันซ้ำๆ ในเฟซบุค นอกจากมุมมองที่เรามองเห็นแล้ว มันส่งผลให้เรา "มองไม่เห็น" อะไรบ้างไหม?

คำตอบคงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามอัลกอริทึ่มของคนพัฒนาระบบ (ที่พูดนี้ไม่ได้แปลว่าเรารู้จักคำว่าอัลกอริทึ่มนะ ฮว่า)

Comments