อย่าแอ๊บแบ๊วได้ปะ
ศ.กิตติคุณ กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย บอกว่า ‘แอ๊บแบ๊ว’ เป็นคำผสมระหว่างคำว่า แอ๊บนอร์มอล (abnormal) ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ผิดปกติ มารวมกับกับคำว่า “บ้องแบ๊ว” ที่หมายความว่า น่ารัก ไร้เดียงสา จึงหมายความว่า เป็นกระทำที่ผิดปกติ ดูน่ารัก ไร้เดียงสา
ข้อมูลจากเว็บไซต์ ‘อันไซโคลพีเดีย’ ไร้สาระนุกรมเสรี ให้คำจำกัดความ ‘แอ๊บแบ๊ว’ ว่า เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในเพศหญิงช่วงแรกรุ่นเป็นต้นไป แสดงออกทางอวัยวะต่างๆ เช่น มีดวงตากลมบ้องแบ๊ว สีหน้าดูสงสัยไร้เดียงสาตลอดเวลา พยายามทำให้แก้มป่อง ริมฝีปากบนจะบางๆ แล้วยกเชิดขึ้นจนเห็นฟันคู่หน้านิดๆ เบะคางให้ดูคล้ายแอบงอน ยิงมุมปากให้เบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่งให้รูปหน้ามีลักษณะแก่นเซี้ยว แสนซน และรักษารูปปากไว้ตลอดเวลาที่พูดคุย เสียงที่ออกมาจะได้เล็กๆ อู้อี้ อ้อน และพูดให้ผิดอักขรวิธีให้มากที่สุด เช่น จริงเหรอ ออกเสียงเป็น จิ๊ง-ง๋ออออออ?? ใช่ไหม เป็น ชิเมะ? / ชิป้ะ? / ชิม้า? ไม่เอา เป็น มิอาวววว
กระทรวงวัฒนธรรมและผู้หลักผู้ใหญ่ ต่างรู้สึกหนักใจมากกับภาวะแอ๊บแบ๊ว ว่าเด็กใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มมากเกินไป หากปล่อยให้เด็กใช้ภาษาไทยแบบชุ่ยๆ จะนำไปสู่การดำเนินชีวิตแบบง่ายๆ เพราะการใช้ภาษาเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาจิตใจและสติปัญญาของคน
อันที่จริง หลักการพื้นฐานธรรมดาที่รู้กันอยู่แล้วคือ ภาษามีการเปลี่ยนแปลง ศัพท์แสลงเป็นของคู่สังคม และการใช้ภาษาก็มีหลายระดับ
นอกจากนี้ ภาษาแอ๊บแบ๊ว โดยเฉพาะทางออนไลน์นั้น มันก็คือวิธีการดิ้นของภาษาที่ทำให้บรรยากาศการคุยผ่านจอเหลี่ยมๆ มันละเอียดและดูมีชีวิตมากขึ้น
เหมือนที่การออกเสียงที่ต่างเพียงเล็กน้อย ของคำว่า ‘คะ’ กับ ‘ค่ะ’ ให้ความหมายที่แตกต่าง เสียงแบบ ‘เค่อะ’ ก็บอกโทนความรู้สึกอีกแบบในตัวมัน เช่นเดียวกัน คำว่า ‘คับ’ และ ‘ครับ’ หรือ ‘คร้าบบบบ’ ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน
มันอาจเป็นความละเมียด ที่คน ‘ใช้’ ภาษามองเห็น แต่ ‘นักเชี่ยวชาญ’ ภาษาอาจจะมองไม่เห็น หรือตามไม่ทัน?
นอกจากด้านภาษาแล้ว มีการวิเคราะห์ว่า ต้นแบบคำนี้มาจากกิริยาท่าทางการพูดจาของนักร้องค่ายเพลงใหญ่ที่มีอายุมากแล้ว แต่มีบุคลิกอ่อนกว่าวัย มีพฤติกรรมดูน่ารัก ทำให้วัยรุ่นที่ชื่นชอบศิลปินคนดังกล่าว มีพฤติกรรมเลียนแบบตามมา
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ทำไมสังคมไทยถึงมีเรื่องการปลุกกระแสเหล่านี้ขึ้นมาซ้ำๆ
อะไรที่กระทรวงวัฒนธรรมทำนั้น มักมียี่ห้อที่ชัดเจน ว่าเป็นกระทรวงที่ดูไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง ‘วัฒนธรรม’ ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่กระทรวงวัฒนธรรม แต่รวมไปถึงนักจับตา นักเฝ้าระวัง (หรือนักถ้ำมอง) ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน คนเหล่านี้ก็ยังคงเดิม ทำงานในประเด็นเดิมๆ
ประเด็นเดิมๆ ที่ว่านี้ ไม่เคยหนีพ้นไปจากเรื่องความเสื่อมของวัยรุ่น รักเที่ยว ‘เสีย’ตัว ‘มั่ว’เซ็กส์ ติดยา ปัญหาการรุกล้ำของวัฒนธรรมต่างชาติ ว่ามาทำลายศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม สิ่งเหล่านี้ไม่เคยหนีพ้นการมองผ่านแว่นของคนที่มี ‘อคติ’ ต่อวัยรุ่น
น่าแปลก คนกลุ่มเดิมๆ เหล่านี้ที่ออกมาพูดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ปีแล้วปีเล่า แสดงว่าการทำงานของท่าน ไม่เป็นผลหรือเปล่า? หรือว่าจับประเด็น แก้ปัญหาไม่ถูกจุด?
บทเรียนหนึ่งอย่างน้อยสำหรับครั้งนี้ บอกให้รู้ว่า ประเด็นที่ถกกันว่า วิกฤตการใช้ภาษา จะนำไปสู่พฤติกรรมไม่งดงามนั้น ไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญของเรื่อง
แต่ประเด็นน่าคิด คือเรื่องวุฒิภาวะของนักสร้างปัญหา หรืออีกนัยคือ “ภาวะแอ๊บแบ๊ว” ของคนที่มีอำนาจ ไม่ว่าจะระดับนโยบายหรือบรรดานักถ้ำมองทั้งหลาย ที่ตั้งประเด็นโน้นนี้ว่าเป็นปัญหาสังคม ผ่านมุมมองแบบไร้เดียงสา
เรื่องนี้คนตัวเล็กตัวน้อย น่าจะออกมาโต้ และบอกว่า... อย่าแอ๊บแบ๊วได้ปะ
......................
เผยแพร่ครั้งแรก ผ่านทาง "สื่อสังวาส" ซึ่งเป็นสื่อกลางระหว่างโครงการ "ก้าวย่างอย่างเข้าใจ" กับสื่อมวลชนสาขาต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารและความคิดเห็นในเรื่องเพศศึกษา
Comments
ถ้าเราจะแอ๊บแบ๊ว
555+
เอาเป็นว่าแอ๊บแบ๊วได้
แต่โปรดใช้ภาษาไทยให้ถูกกาลเทศะ
หน้าอ่อนปัญญาอ่อนไม่น่ากลัว
ที่น่ากลัวคือหน้าแก่แต่ปัญญาอ่อน
เหอๆ
ไปดีกว่า
^^
ว่าแต่ จะมีใครทำ "ดวงตากลมบ้องแบ๊ว สีหน้าดูสงสัยไร้เดียงสาตลอดเวลา พยายามทำให้แก้มป่อง ริมฝีปากบนจะบางๆ แล้วยกเชิดขึ้นจนเห็นฟันคู่หน้านิดๆ เบะคางให้ดูคล้ายแอบงอน ยิงมุมปากให้เบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่งให้รูปหน้ามีลักษณะแก่นเซี้ยว แสนซน และรักษารูปปากไว้ตลอดเวลาที่พูดคุย" จริงๆ เหรอ กว่าอวัยวะจะขยับได้ตามนั้น หน้าคงเบี้ยวอะเราว่า
ชิมิเคอะ!
จำได้ไหม บทเวทีดีเบตเรื่องรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีทั้งตุ๊กตาตาแหววเอย
เอาเด็กสาวมารณรงค์รับรธน.เอย
แล้วเรื่องสังคมสมานฉันท์อีกนั่นปะไร
เราแอ๊บแบ๊วกันมาตั้งนานแล้ว !
"เราอาจจะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เริ่มต้นไม่ค่อยสวย เพราะว่ามาจากกระบวนการอภิวัฒน์รัฐประหาร"
"มาตรา 309 พูดว่าสิ่งที่ถูกต้องในปี 2549 ให้ถือว่าถูกต้องต่อไป ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผิดให้ผิดต่อไป หรือให้ถูก ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผิดขอให้ถูก เขียนว่าสิ่งที่ถูกขอให้ถูกต่อไป ถามว่าเขียนแบบนี้ผิดตรงไหน มีบทบัญญัติตรงไหนบ้างที่นิรโทษกรรม คมช."
เหอ ๆ ล้อเล่นน่ะ
อ่านบล็อกเก่า ๆ แล้วเพิ่งรู้ว่าเจ๊ ติด blog เอามาก ๆ (ผมทำยังได้แค่ 58% เอง)
แถมยังป็อบอีกต่างหาก มีคนมาแท็คเยอะดี
ฮิ ๆ
ตอนอ่านวิธีทำหน้าแอ๊บแบ๊ว......
"มีดวงตากลมบ้องแบ๊ว สีหน้าดูสงสัยไร้เดียงสาตลอดเวลา พยายามทำให้แก้มป่อง ริมฝีปากบนจะบางๆ แล้วยกเชิดขึ้นจนเห็นฟันคู่หน้านิดๆ เบะคางให้ดูคล้ายแอบงอน ยิงมุมปากให้เบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่ง...."
เราพยายามจะทำตามไปได้แค่ครึ่งหนึ่งของคำบรรยาย แล้วพบว่า...มันยากกกกมากกกกกกก
เท่านั้นแหละจ้า...
พี่ยุ้ย ณ เกาหลีใต้
(ประเทศซึ่งเต็มไปด้วยสาวแบ๊วๆ แบบไม่ต้องแอ๊บ)
555