ช่อการะเกด ฉบับที่ 42

…. ‘ช่อการะเกด’ กลับมาแล้ว…

สำหรับนักอ่านที่ยังไม่เด็กเกินไปนัก น่าจะทันได้ยินชื่อ หรือติดตามอ่านเรื่องสั้นที่ได้ตีพิมพ์ใน ‘ช่อการะเกด’ นิตยสารวรรณกรรมในอดีต หรืออาจเคยได้รับรู้ว่า วงการวรรณกรรมมีรางวัลเกียรติยศที่นักเขียนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในคุณภาพของผลงานที่ได้รับการประดับช่อการะเกด

ช่อการะเกดมีบทบาทสำคัญ ในฐานะเป็น ‘สนาม’ หรือ ‘เวที’ ให้ผู้คนวงการวรรณกรรม ไม่ว่าจะนักเขียน นักอยากเขียน และนักอ่านแล้ว ได้โลดแล่นลองสนาม ผลงานทุกชิ้นผ่านตาผู้พิจารณากลั่นกรองโดยบรรณาธิการอย่าง ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรารู้จักกันในนามของ ‘สิงห์สนามหลวง’

30 ปีที่แล้ว ช่อการะเกดเปิดตัวขึ้นครั้งแรก ไม่นานก็ปิดตัวลงไป ผ่านไป 9 ปีช่อการะเกดก็เปิดตัวและปิดตัวลงอีกครั้ง เช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไปอีก 9 ปี มาในวันนี้ พ.ศ. 2550 ช่อการะเกด ยุคที่สาม กำลังจะกลับมาให้วงการวรรณกรรมคึกคักอีกครั้งหนึ่ง


ช่อการะเกด ก่อกำเนิดของนักเขียนไทย
นิตยสารช่อการะเกด เป็นนิตยสารวรรณกรรม เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดย ‘สุข สูงสว่าง’ ผู้ก่อตั้งธุรกิจหนังสือดวงกมล ชักชวน ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ให้มาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘โลกหนังสือ’

โลกหนังสือปรากฏตัวในบรรณพิภพครั้งแรกเมื่อเดือนมิ.ย. 2520 และทำให้เกิดหนังสือเล่มซึ่งเป็นที่มาของช่อการะเกด หนังสือเล่มนั้นรู้จักกันในนาม ‘โลกหนังสือ ฉบับเรื่องสั้น’ ใช้ชื่อหนังสือว่า ‘วันเวลาที่ผ่านเลย’ อันรู้กันว่าเป็นเล่มแรกของ ‘ช่อการะเกด’

ภายในบรรจุเรื่องสั้นประมาณ 15 เรื่อง และมีการตั้ง ‘ประดับช่อการะเกด’ ซึ่งถือเป็นความเห็นส่วนตัวของบรรณาธิการ โดยเล่มหนึ่งๆ จะมีประดับช่อการะเกดอยู่ราว 4-5 เรื่อง จนต่อมา บรรดาคนเขียนหนังสือและเรื่องสั้นก็ทึกทักเรียกการประดับช่อการะเกดจากสุชาติ สวัสดิ์ศรี ว่าเป็นรางวัลวรรณกรรม

ยุคแรกของช่อการะเกด เกิดนักเขียนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิมล ไทรนิ่มนวล, มาลา คำจันทร์, จำลอง ฝั่งชลจิตร ฯลฯ แต่ช่อการะเกดยุคแรก ออกมาได้เพียง 4 เล่มก็ยุติไปในปี 2523 ด้วยเหตุที่ว่า บรรณาธิการเครางาม สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไม่มีเวลา เพราะเวลาส่วนใหญ่ต้องให้กับการทำ ‘โลกหนังสือ’


ยุคสองของช่อการะเกด บาดแผลจากวัฒนธรรมการอ่าน
9 ปีหลังจากปิดตัวไปครั้งแรก ในปี 2532 ‘เรืองเดช จันทรคีรี’ คือบุคคลที่ปลุกช่อการะเกดขึ้นมาอีกครั้ง เขาชวนให้สุชาติ สวัสดิ์ศรี ทำช่อการะเกดในยุคที่สอง ด้วยเห็นว่าน่าจะเอาเรื่องสั้นกลับมา เขารับหน้าที่เป็นผู้จัดการและดูแลการเงิน

โจทย์ใหญ่ที่สุดในขณะนั้นคือ จะทำอย่างไรให้ช่อการะเกดอยู่รอดได้นานที่สุด ทางออกแรกจึงเริ่มจากการตีพิมพ์แล้วขายขาดส่งให้สายส่งในขณะนั้น ซึ่งคือบริษัทเคล็ดไทย แต่หลังจากทำได้หนึ่งเล่ม ก็เกิดข้อจำกัดที่ทางสายส่งไม่สามารถรับซื้อขาดได้ ซึ่งก็สร้างความเสี่ยงให้ธุรกิจหนังสือไม่น้อย

สุชาติ และเรืองเดช จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัท ดวงกมลวรรณกรรม รับจ้างทำหนังสือ เพื่อเป็นหลังพิงให้กับช่อการะเกดสามารถอยู่รอดได้ ‘สำนักช่างวรรณกรรม’ ก็เกิดขึ้นในยุคนี้

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด ช่อการะเกดก็ต้องปิดตัวลงไปในเดือนม.ค. 2542 เหตุมีแค่เรื่องเดียว คือ เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจ เกิดปัญหาฟองสบู่แตก ทำให้ธุรกิจดำรงอยู่ไม่ได้

สุชาติกล่าวว่า ตอนยุติช่อการะเกดครั้งนั้น ก็บอกกับแวดวงวรรณกรรม ตั้งคำถามว่า อำนาจวรรณกรรมมันมีจริงหรือ ถ้ามีจริง ทำไมหนังสือในลักษณะเข้มข้น จริงจัง มันจึงอยู่ไม่ได้ ทั้งที่ประเทศไทยมีคนจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจำนวนมาก แต่เหตุใด หนังสือสาระจึงมีปัญหา และทำไมการเกิดขึ้นของหนังสือประเภทนี้จึงต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่เสมอ

จากเรื่องนี้ สุชาติเล่าว่า เขาจึงคิดเสียดสีตัวเองว่า บางทีอำนาจวรรณกรรมอาจจะไม่มีจริง เพราะไม่งั้นแล้ว การอ่านต้องมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากสมัยบรรพบุรุษได้ เช่น สมัยพ.ศ. 2472 ที่เริ่มมีหนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’ โดย ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ เป็นบรรณาธิการนั้น สุภาพบุรุษตีพิมพ์รายปักษ์ออกมาต่อเนื่องรวม 37 เล่ม มีจำนวนพิมพ์ครั้งละ 2,000 ฉบับ แต่ทุกวันนี้ แม้จำนวนประชากรของประเทศไทยจะสูงขึ้น แต่ยอดการพิมพ์การขายหนังสือ ไมได้พัฒนาไปไหน ทุกวันนี้หนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งละ 2,000 ฉบับก็ยังเกิดปัญหา

“มันเกิดอะไรกับวัฒนธรรมการอ่าน สังคมไทยอาจจะมีแต่วัฒนธรรมหนังสือ ไม่มีวัฒนธรรมการอ่าน” สุชาติตั้งคำถามเอาไว้

ข้อสังเกตของเขาต่อวงการหนังสือทุกวันนี้คือ การผลิตหนังสือยังเกิดขึ้นมากๆ กลายเป็นสินค้า มีขึ้นเพื่อสนองการบริโภคมากกว่าเรื่องรสนิยม เรื่องการศึกษา และเรื่องจิตใจ


บรรณาธิการเครางาม “ผมกลับมาแล้วครับ”
ระยะห่างระหว่างช่อการะเกดยุคแรกและยุคที่สอง ใช้เวลาผ่านไป 9 ปี จนมาในยุคที่สาม ก็ใช้เวลาผ่านจากยุคที่สองมาอีก 9 ปีเช่นกัน ที่สองศิษย์เก่าช่อการะเกด ‘เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ’ และ ‘เวียง-วชิระ บัวสนธ์’ ร่วมกันปลุกช่อการะเกดให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง เป็นข้อตกลงที่จะทำช่อการะเกดราย 3 เดือน ยาวนาน 3 ปี

สำนักช่างวรรณกรรมเป็นผู้จัดพิมพ์ โดยมีสำนักพิมพ์พิมพ์บูรพาเป็นผู้ลงทุน และการกลับมาของช่อการะเกดในครั้งนี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี จะมาเป็นบรรณาธิการเต็มรูปแบบ เพื่อปูพื้นฐานในปีแรก เหตุที่จำกัดไว้เพียงปีแรก เพราะสุชาติเองไม่แน่ใจในสุขภาพสายตาของตัวเอง อย่างไรก็ดี บรรณาธิการท่านนี้ กล่าวเอาไว้ว่า จะรออ่านผลงานทุกชิ้น แม้งานจะไม่ได้พิมพ์ แต่มั่นใจได้ว่า อย่างไรก็ต้องผ่านสายตาของบรรณาธิการ

จากนั้นในปีที่สองและสาม จะขอส่งไม้หน้าที่บรรณาธิการ ซึ่งตอนนั้นยังมาไม่ถึง แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลา เวียง วชิระ จะรับหน้าที่นี้ได้ โดยสุชาติยังคงยินดีอยู่เคียงข้างเป็นพระประธานให้

สุชาติกล่าวว่า ช่อการะเกดยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นช่อการะเกดฉบับที่ 42 เปิดรับต้นฉบับ ‘เรื่องสั้นที่ดีที่สุด’ ถึงกลางเดือนสิงหาคม เนื้อหาภายใน มีสองส่วนเช่นเคยคือ

ส่วนแรก ประมาณร้อยละ 80 ของเนื้อหาทั้งหมด เป็นเรื่องสั้น รวมประมาณ 12-15 เรื่อง และส่วนที่สอง อีกประมาณร้อยละ 20 ของเนื้อหา เป็นช่อการะเกดฉบับโลกหนังสือ ว่าด้วยข่าวคราวโลกวรรณกรรมในระดับนานาชาติ งานวิจารณ์วรรณกรรม

ใครต่อใครสงสัยถึงการกลับมาอีกครั้งของช่อการะเกด ซึ่งที่มาที่ไปนั้น นอกจากเพราะการชักชวนของสองศิษย์เก่าช่อฯ แล้ว การกลับมาครั้งใหม่นี้ ยังมีวาระอื่น ไม่ว่าจะเป็นวาระครบรอบสามสิบปีของ ‘โลกหนังสือ’ เพื่อระลึกถึง ‘สุข สูงสว่าง’ ผู้ก่อตั้งคนแรกซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2550 ที่ผ่านมา

สุชาติ สวัสดิ์ศรียังกล่าวว่า สามสิบปีโลกหนังสือ ก็คือสามสิบปีของสิงห์สนามหลวงด้วย ซึ่งก็ดูมีเหตุมีวาระมากมายที่จะเกิดช่อการะเกดอีกครั้ง ไม่เพียงเท่านั้น ช่อการะเกด 3 กลับมาในวาระของ ‘ราชาเรื่องสั้นไทย’ ด้วยถึงโอกาสครบรอบ 100 ปี ‘มนัส จรรยงค์’


เลือดใหม่ช่อการะเกด
ด้านของ เช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ และ เวียง วชิระ บัวสนธ์นั้น นอกจากเป็นศิษย์เก่าช่อการะเกดแล้ว สุชาติยังเล่าเชิงติดตลกว่า เวียง ซึ่งปัจจุบันทำสำนักพิมพ์สามัญชนนั้น เขียนจดหมายและรู้จักกับสิงห์ สนามหลวงมาตั้งแต่ประถม 5 เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในอำนาจของวรรณกรรมตลอดมา และสนใจในอำนาจวรรณกรรมจนกระทั่งเรียนไม่จบ ส่วนเช็คนั้น เคยร่วมงานกับสุชาติมาตั้งแต่สมัยคณะละครสองแปด โดยเป็นทั้งผู้ช่วยผู้กำกับและนักแสดง ก่อนจะเข้าสู่วงการโทรทัศน์

ทุกวันนี้ เช็คและเวียง ร่วมกันทำนิตยสาร ฅอ ฅน และเหตุหนึ่งของการชักชวนกันมาริเริ่มช่อการะเกดในยุคที่สาม ก็เป็นเพราะส่วนหนึ่งในนิตยสารฅอ ฅน คือส่วนของเรื่องสั้น ที่ปรากฏว่ามีคนส่งผลงานคุณภาพเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่มีเนื้อที่ให้พอลงได้เพียงเล่มละหนึ่งเรื่องเท่านั้น

เช็ค ในฐานะคนที่เขียนเรื่องสั้น เห็นว่า เมื่อเขานึกถึงความรู้สึกตัวเอง เป็นความรู้สึกของเด็กคนหนึ่งที่อยากเขียนหนังสือ แล้วพอได้ ‘ประดับช่อ’ มันเหมือนเป็นแสงสว่าง เป็นประตูแห่งชีวิต และยิ่งทำให้เกิดความรักในสิ่งที่ทำมากยิ่งขึ้น เขากล่าวต่อว่า ความรู้สึกเช่นนี้ ไม่น่าจะเป็นความรู้สึกของเขาโดยลำพัง

การหาพื้นที่ให้เรื่องสั้น จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง


เปิดสนามสำหรับนักเขียน
ครั้งหนึ่ง แวดวงวรรณกรรม ดูเหมือนจะมีแค่รางวัลซีไรต์และการประดับช่อการะเกด ที่เป็นแรงใจให้แก่นักเขียน จนกระทั่งมีผู้คนที่ยกยอหรืออาจจะเรียกว่าเสียดสีว่า เวทีช่อการะเกดเป็นเสมือนโรงเรียนเตรียมซีไรต์

แต่ระยะหลัง วงการวรรณกรรมมีรางวัลเกิดขึ้นมากมาย สุชาติกล่าวว่า ทุกวันนี้ อาจจะมีรางวัลมากกว่าตัวผู้เขียนด้วยซ้ำ

เขากล่าวว่า เราไม่รู้ว่าคนปัจจุบันคิดยังไงกับช่อการะเกด ซึ่งที่ผ่านๆ มาก็มีนักเขียนใหม่ๆ เกิดขึ้นในช่วงที่ช่อการะเกดตายไป เป็นเรื่องดีที่ไม่ต้องมีช่อการะเกดแต่ก็มีนักเขียนใหม่ๆ เกิดขึ้นมา

เขากล่าวว่า หวังว่าศิษย์เก่าช่อการะเกด เลือดลมยังดีอยู่ พอมีเวทีเกิดขึ้น จะกลับมาด้วยความเข้มข้นเท่าเดิมหรือมากขึ้น เพราะมาตรฐานยังเหมือนเดิม

ขณะเดียวกัน ก็รอผลงานนักเขียนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นแบบไหน ภาษาเป็นอย่างไร มุมมองเป็นอย่างไร เพราะทุกวันนี้มีพื้นที่ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก แต่ถึงอย่างไร การเขียนงานก็มีความร่วมกัน คือ ใช้ภาษาไทยเขียน เป็นภาษาที่สื่อความได้ และเป็นอันรู้กันว่า มาตรฐานช่อการะเกดนั้น เน้นที่ความคิดเริ่มต้นเป็นพื้นฐานสำคัญ

ในส่วนของการ ‘ประดับช่อ’ อย่างที่เคยมีนั้น สุชาติกล่าวว่าขอคิดและปรึกษาร่วมกันก่อนว่า ช่อการะเกด 42 จะมีประดับช่อหรือไม่ เพราะหากกำหนดว่าจะประดับช่อ มันทำให้เกิดสิ่งที่คาดหมายล่วงหน้า เวลานี้ จึงยังไม่แน่ว่า จะประดับช่อในทุกๆ เล่ม หรือรอให้ครบปี แล้วจึงประดับช่อ

ในวันนี้ 30 ปี ช่อการะเกดกลับมาอีกครั้ง ไม่เพียงคนอ่านที่ตั้งตาคอย แต่สำหรับเจ้าของผลงาน "เรื่องสั้นที่ดีที่สุด" สามารถส่งมาพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร "ช่อการะเกด" ฉบับ 42 ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2550

ช่อการะเกด รับพิจารณาต้นฉบับที่พิมพ์ลงในกระดาษแล้ว หรืออาจจะแนบไฟล์อิเล็คทรอนิกส์มาด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยรับผลงานเฉพาะทางไปรษณีย์เท่านั้น ผ่านทางตู้ ปณ.1143 ปท.ดอนเมือง กรุงเทพฯ 10211



หมายเหตุ: บรรณาธิการเครางาม สุชาติ สวัสดิ์ศรี ร่วมกับสองศิษย์เก่าช่อ แถลงข่าวเปิดตัวการกลับมาอีกครั้งของช่อการะเกด เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์

ป.ล. งานเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรก ที่ประชาไท


Comments

veer said…
หรือผมจะเด็กไป? แต่จริงๆแล้วคงจะโลกแคบไป คงจะได้เริ่มอ่านตอนกลับมานี่หละมั้ง ...
Anonymous said…
เกิดทันช่อฯ ทั้งสองยุคเลยอะ เหอ เหอ
แต่โตพอรู้ความว่ามีช่อฯ อยู่ ก็ตอนยุคสองนี่แหละ
พอยุคสามนี่คงได้ตามอ่านอย่างจริงๆ จังๆ มากขึ้น

(^_^)
Anonymous said…
จำได้ว่ามีโอกาสซื้ออยู่เล่มนึง หน้าปก ศุ บุญเลี้ยง :)
... ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเท่าไรจริงๆ
แต่พอโตๆ มา ชอบงานของคุณสุชาติ แฮะ ..ชอบงานศิลปะเค้านะ ..งานเขียนยังไม่ได้มีโอกาสลองอ่านแบบจริงๆ จังๆ สักที ..

แต่เรื่องนี้น่าสนใจ ขอขโมยไป post หน่อยนะ :)
Anonymous said…
เคยได้ยิน
แต่ไม่เคยอ่าน
น่าสนใจอีกแล้ว
ขอบคุณน้องนิ้วสำหรับข่าวคราวดีๆ ที่นำมาฝากกันนะ
อืม คันมือขึ้นมาทันที
^^