•_• หัว หู นม ผม ตีน กับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้

สกู๊ปประจำฉบับ
นิตยสาร s-exchange


หัว หู นม ผม ตีน
กับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้

เปิดเทอมนี้ ‘แบงค์’ เพิ่งโดนเล่นงานจากคุณครูฝ่ายปกครอง เพราะ ‘ผม’ ที่เพิ่งไปซอยตอนช่วงปิดภาคฤดูร้อนยังยาวไม่ทันจะเท่ากันดี นี่เป็นครั้งแรกที่เธอถูกฝ่ายปกครองเรียกพบ นับแต่ช่วงเวลาหกปีที่เธอเข้ามาเรียน ณ โรงเรียนสหศึกษาของรัฐในกรุงเทพฯ แห่งนี้

‘นักเรียน ม.ปลายไว้ผมยาวได้ แต่ผมต้องยาวเท่ากัน ห้ามซอย ห้ามยาวเกินกลางหลัง ช่วงเพิ่งเปิดเทอมจะมีปัญหา เพราะใครๆ ก็ไปสไลด์มาตอนปิดเทอม ก็จะเจออาจารย์คนนึง เขาจะพกกรรไกรไว้ติดตัวเลย’ แบงค์ระบาย
แม้ดูเผินๆ แบงค์จะดูสบายใจดีกับชีวิตในโรงเรียน แต่ถ้าถามเรื่องระเบียบที่ต้องปฏิบัติในโรงเรียนแล้ว แบงค์เองหงุดหงิดกับชีวิตที่จุกจิกอยู่ไม่น้อย

เพราะถัดจาก ‘ทรงผม’ ลงมาก็ ‘หู’ แต่เดิมโรงเรียนยอมให้ใส่ตุ้มหูได้ถ้าเป็นตุ้มหูห่วงทอง ทว่าหลังจากเปลี่ยนผู้อำนวยการคนใหม่เมื่อไม่นานมานี้ มีกฎห้ามใส่เด็ดขาด ทำเอานักเรียนโรงเรียนนี้ ‘หูตัน’ ไปตามๆ กัน
แน่นอน แม้อากาศจะร้อนสักเพียงใด เสื้อทับคือเรื่องที่‘ต้อง’ ส่วนกระโปรงต้องยาวต่ำกว่าเข่าลงมาหนึ่งฝ่ามือซึ่งแสนจะเชย เพราะกระโปรงยาวเท่าเข่านั้นแลดูน่ารักกว่า ถุงเท้าก็ให้เลือกใส่ได้เฉพาะแบบที่พับสองข้อเท่านั้น ห้ามใส่แบบ ‘บิกีนี่’ ที่มีความยาวเท่าตาตุ่ม แม้เมื่อใส่ออกมาแล้วจะดูไม่แตกต่างกันก็ตาม

ส่วนนักเรียนชายในกรุงเทพฯ จะฮิตกางเกงเอวต่ำตามกระแสที่มาแรง เพื่อนๆ แบงค์มักจะอ้างกับครูว่าที่กางเกงมันดูเอวต่ำ เพราะว่าอ้วนขึ้น

แบงค์เห็นว่า ถ้ากางเกงเอวต่ำมาก นุ่งออกมาแล้วก็เข้าขั้นน่าเกลียด แต่จะมีกลุ่มเด็กเรียนที่ชอบดึงกางเกงสูงๆ แล้วรัดเข็มขัดจนกางเกงฟิต แบบนี้ครูไม่ว่า แต่แบงค์ก็เห็นว่า มันก็น่าเกลียดไม่แพ้กัน

ถุงเท้านักเรียนชายห้ามใส่แบบลูกฟูก ส่วนเรื่องเสื้อนั้นก่อนหน้านี้ระยะหนึ่งจะฮิตแบบปลดกระดุมเสื้อ ๒-๓ เม็ด ครูก็จะว่า แต่เดี๋ยวนี้แฟชั่นนี้เริ่มซาๆ กันไปแล้ว ก็เลิกทำกันไปเอง

ส่วนแฟชั่นยอดฮิตในตอนนี้คือ สายรัดข้อมือ (Wrist Band) ครูเคยเข้ามาปรึกษาแบงค์ในฐานะที่เป็นกรรมการนักเรียนว่าจะทำยังไงดี แบงค์และเพื่อนบอกครูว่า ‘ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง แต่ถ้ามันฮิตได้ เดี๋ยวมันก็เลิกฮิตเองค่ะ’

ล่าสุดแบงค์ไปซอยผมผิดระเบียบมาเป็นเพียงเพราะว่า ‘ก็แค่อยากตัดทรงนี้ เห็นมันน่ารักดี’ แต่พอเปิดเทอมมาถูกครูดุ แบงค์เองก็เสียความรู้สึก เพราะไม่ได้ตั้งใจจะทำตัวไม่ดีเลย

‘เป็นผู้หญิงก็รักสวยรักงาม ถ้าให้ตัดผมเท่ากันทั้งหัวมันก็แปลกๆ แล้วถ้าทุกอย่างมันมารวมกันอย่างที่ระเบียบตั้งไว้ มันก็...ตลก’

‘เมษ’ หนุ่มน้อยนักดนตรีเพิ่งเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนในจังหวัดระยอง เล่าประสบการณ์ที่เขาและเพื่อนเจอร่วมกันว่า เพื่อนไปตัดทรงสุดฮิต ‘สกินเฮด’ คุณครูฝ่ายปกครองจะเล่นงาน เพื่อนเขาเถียงครูว่า ผมทรงสกินเฮดไม่ผิดระเบียบเสียหน่อย ไม่มีกฎข้อไหนของโรงเรียนระบุไว้ จากนั้นครูหายไปสองวัน กลับมาใหม่พร้อมกับบอกว่า ครูไปอ่านระเบียบมาแล้ว แม้ระเบียบจะไม่ได้เขียนว่าห้ามตัดสกินเฮด แต่ก็จะต้องลงโทษ เพราะมันดูไม่เรียบร้อย
ในความเห็นของเมษ เพื่อนที่ตัดผมทรงสกินเฮดบางคนก็ดูไม่เรียบร้อยจริงๆ (ฮา)

กฎหลักๆที่แต่ละโรงเรียนมีไม่ต่างกันคือ ไม่อนุญาตให้ใส่เครื่องประดับ เด็กผู้หญิง ม.ต้นต้องไว้ผมทรงพวงมาลัยหรือบ็อบตรง ความยาวระดับต่ำกว่าติ่งหูเล็กน้อย นักเรียนหญิง ม.ปลายไว้ผมยาวได้ แต่ต้องยาวเท่ากันหมดทั้งหัว ส่วนนักเรียนชายหนีไม่พ้นผมทรงลานบิน

ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตน เช่น นักเรียนอยากตัดทรงผมที่เข้ากับบุคลิกและใบหน้า แต่ครูอาจเห็นว่า นักเรียนวัยมัธยมต้นยังดูแลความสะอาดให้ตัวเองได้ไม่ดีพอ จึงไม่ควรไว้ผมยาวรุ่มร่าม แล้วก็ไม่ต้องการให้นักเรียนสิ้นเปลืองไปกับการเสริมสวย ส่วนผมทรงสกินเฮดที่นักเรียนชายทั่วประเทศมีปัญหากับครูนั้น ข้อมูลจากคุณครูฝ่ายปกครองท่านหนึ่งบอกว่า มีผู้ปกครองที่ประสงค์เองว่าไม่ชอบทรงนี้ เพราะดูแล้วไม่ต่างจากนักโทษในหนังฝรั่ง

หรือเช่นที่โรงเรียนที่แบงค์เรียน จะมีเรื่องที่นักเรียนชายชอบปลดกระดุมเสื้อ แท้จริงแล้วไม่ใช่แค่เรื่องแฟชั่น แต่เพราะเวลาเล่นกีฬาแล้วเหงื่อออก ก็จะชอบปลดกระดุมเสื้อคลายร้อน ครูที่โรงยิมเสนอให้นักเรียนเลิกเล่นก่อนเวลาสักสิบนาที จะได้ไม่ต้องเดินปลดกระดุม แต่นักเรียนก็เห็นว่า ทั้งโรงเรียนก็มีโรงยิมแค่ที่เดียว ใช่ว่าจะมีโอกาสได้เล่นกีฬาอยู่บ่อยๆ
‘ทำไมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยชอบมีอะไรที่มาบังคับให้คล้ายกัน’ สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการแหกคอกจากสาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
สมชายตั้งข้อสังเกตว่า แต่เดิมรากฐานระบบการศึกษาในไทยเป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐ จึงต้องสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Unity) ให้ทุกคนมีลักษณะที่เหมือนๆกัน ซึ่งการศึกษาในยุคเริ่มต้นเป็นการศึกษาที่เน้นต้อนคนเข้าสู่ระบบราชการ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องฝึกก็คือ ‘วินัย’ เพราะถ้าข้าราชการเป็นพวกช่างคิดก็จะมีปัญหา หรือเช่นพลทหารที่เกิดลังเลแล้วตั้งคำถามขึ้นกลางสมรภูมิรบว่า เราจะทำสงครามไปเพื่ออะไร อย่างนั้นก็จะมีปัญหา

สมชายกล่าวว่า การศึกษายุคดังกล่าว จะฝึกคนให้คุ้นเคยกับระบบการเชื่อฟัง เป็นการเรียนแบบที่ไม่ต้องตั้งคำถาม ครูเป็นฝ่ายถ่ายทอดความรู้ เด็กไม่จำเป็นต้องค้นคว้า

ประภาส ชลศรานนท์ เจ้าของคอลัมน์ ‘คุยกับประภาส’ ในหนังสือพิมพ์มติชน เคยเล่าในคอลัมน์ของเขาถึงเรื่อง ‘หกวานร’ เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับห้องห้องหนึ่ง กลางห้องมีบันไดลิงตั้งอยู่ ผู้สร้างห้องได้ปล่อยลิงมาอยู่รวมกันในห้องนี้หกตัว ทุกวันจะมีคนนำอาหารมาแจกจ่าย

มาวันหนึ่ง ที่ยอดบันไดลิงมีกล้วยหอมหวีหนึ่งถูกนำมาแขวนไว้ ลิงทั้งหกพุ่งไปที่บันไดหมายจะคว้ากล้วยหวีใหญ่มากิน แต่ทันทีที่ลิงตัวหนึ่งเอามือไปสัมผัสบันได น้ำเย็นเฉียบก็พุ่งออกมาอย่างแรงจากท่อโลหะที่มนุษย์แอบฝังไว้ ลิงทั้งหกเปียกปอนและหนาวสั่นไปตามๆกัน

ด้วยความหิวโหย ลิงตัวที่ใหญ่สุดจึงนำทีมลิงอีกห้าตัวปีนบันไดขึ้นไปเอากล้วยอีกครั้ง แล้วก็เหมือนเคย...น้ำเย็นเฉียบพุ่งออกมาในทันที

หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านไป ท่อน้ำได้ฉีดน้ำออกมาห้าครั้ง สองครั้งแรกฉีดเมื่อกล้วยถูกนำมาแขวนใหม่ๆ ครั้งที่สามฉีดออกมาตอนกลางคืนเมื่อลิงตัวโตพยายามลองปีนบันไดไปเอากล้วยอีก ครั้งที่สี่ท่อได้ฉีดน้ำออกมาในบ่ายวันที่ผู้ให้อาหารนำอาหารมาส่งช้าเกินไป ส่วนครั้งที่ห้า เพราะลิงสองตัวเล่นปล้ำกันแล้วกลิ้งไปถูกบันได

ผ่านไปหนึ่งเดือน กล้วยเปลี่ยนไปเจ็ดหวี แต่ไม่มีลิงตัวใดย่างกรายเข้าใกล้บันไดเลย

เดือนที่สาม มนุษย์เปลี่ยนลิงตัวหนึ่งออก แล้วเอาลิงตัวใหม่เข้าไปแทน กลิ่นกล้วยหอมดึงดูดให้ลิงตัวใหม่เข้าใกล้บันได แน่นอน ลิงทั้งห้าตัวต่างก็พุ่งเข้ามาขวางไว้ พร้อมแยกเขี้ยวอย่างดุร้าย

ผ่านไปอีกสี่เดือน ท่อน้ำไม่ถูกสั่งให้ทำงานอีกเลย ขณะที่กล้วยเปลี่ยนหวีไปนับไม่ถ้วน ในเดือนที่ห้า แม้ลิงตัวใหม่ทั้งสามตัวที่เข้ามาไม่เคยรู้ถึงเหตุผลของการปกป้องบันได แต่ก็เข้าร่วมขบวนการข่มขู่แยกเขี้ยวไม่แพ้ลิงรุ่นดั้งเดิม
สุดท้าย ลิงรุ่นแรกของห้องถูกนำออกไปจนหมด แทนที่ด้วยลิงตัวใหม่ๆ แต่บันไดยังคงเป็นของต้องห้าม กล้วยถูกเปลี่ยนหวีใหม่อยู่เสมอ แต่ก็เป็นเวลานับปีที่ไม่เคยมีลิงตัวใดแตะต้องบันไดอีก

ประภาสทิ้งท้ายบทความนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ‘หลังจากมนุษย์ทำให้บันไดอันนั้นกลายเป็นบันไดอาญาสิทธิ์ไปแล้ว การแขวนกล้วยก็ถูกยกเลิกไป แต่ลิงทั้งหกตัวก็ยังไม่มีตัวไหนกล้าที่จะเข้าไปใกล้บันได คงต้องรอสักวันหนึ่งที่บังเอิญมีลิงตัวไหนพลาดไปถูกบันไดเข้า แล้วมนุษย์ก็บังเอิญลืมเปิดน้ำฉีดลงมา ความคิดกบฏต่อความเชื่อเก่าๆก็จะบังเกิดขึ้น’

‘ลูกหว้า’ อาจคล้ายลิงที่โชคดีคนหนึ่ง เรียนจบมัธยมต้นจากโรงเรียนวชิราวุธ ก่อนจะไปต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนในตัวเมือง จังหวัดเชียงรายบ้านเกิด

ชีวิตลูกหว้าตอน ม.ต้นที่วชิราวุธ ต้องกินนอนอยู่ที่นั่น มีกฎระเบียบเคร่งครัด ใช้ระบบหัวหน้าคณะซึ่งมีรุ่นพี่ชั้นม.๖เป็นคนดูแล ทุกอย่างต้องทำเป็นเวลา ไม่ว่าจะกินข้าว นอน เล่นกีฬา หรือทำการบ้าน ส่วนอาจารย์ถือว่ามีบทบาทน้อย จะข้องเกี่ยวเฉพาะเรื่องเรียนเท่านั้น

ลูกหว้าบอกว่า เอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยมีคนฝืนระเบียบ อาจเพราะกลัวรุ่นพี่ สภาพชีวิต ม.ต้นในโรงเรียนประจำมันจึงช่างน่าเบื่อ ซ้ำซาก ทุกวันเป็นเหมือนๆกัน

เมื่อมาขึ้นม.ปลายที่โรงเรียนใหม่ ลูกหว้าบอกว่าชีวิตมันสบายขึ้น แล้วถึงได้รู้ว่า ‘อะไรวะ! ชีวิต ม.ต้นที่ผ่านมาถูกบังคับมาฟรีๆนี่นา...’

การศึกษาแบบขุนนางที่ต้องเคร่งครัดระเบียบอาจเป็นอดีตไปแล้ว มาวันนี้เงื่อนไขได้เปลี่ยนไป เพราะการศึกษาไม่ได้มุ่งเน้นป้อนคนเข้าระบบราชการแต่เพียงอย่างเดียว สมชายกล่าวว่า ‘สมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นทำเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ให้เกิดความแตกต่าง ระหว่างภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน แม้กระทั่งเคยห้ามพูดภาษาถิ่น เพื่อไม่ให้มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ แต่ไม่ใช่ว่า ที่ปัจจุบันเราต่อต้านระเบียบนั้น เป็นเพราะเราเปิดกว้าง เพราะแม้จะถามวัยรุ่นแล้วได้คำตอบที่ว่าต้องการให้เลิกใส่เครื่องแบบ ก็ไม่ใช่เพราะความเข้าใจในเรื่องความหลากหลาย’

เหตุผลที่ครูมักหยิบขึ้นมาใช้ควบคุมการแต่งกาย คือเพื่อไม่ให้กระแสแฟชั่นเข้ามามีอิทธิพลต่อวัยรุ่น หรือขัดต่อวัฒนธรรม ‘อันดีงาม’ แต่สมชายตั้งข้อสังเกตว่า ถึงจะบังคับอย่างไร ขณะอยู่ในกฎระเบียบ แฟชั่นก็ซึมเข้ามาในการแต่งเครื่องแบบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

‘ลูกปัด’ อายุ ๒๓ ปี เป็นอดีตนักเรียนมัธยมต้นที่มีปัญหาขั้นรุนแรงกับครูฝ่ายปกครองมากที่สุด เนื่องจากประพฤติตัวผิดระเบียบตั้งแต่หัวจรดเท้า

ลูกปัดเล่าว่า ที่ทำตัวผิดระเบียบ เพราะไม่เห็นประโยชน์ของระเบียบ เธอแค่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดที่เข้ากับวัยเท่านั้น แต่ลูกปัดกลับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเอาเสียดื้อๆ เมื่อมาขึ้นชั้นมัธยมปลาย ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า เธอเบื่อและเหนื่อยที่ต้องคอยวิ่งหนีครูฝ่ายปกครอง และไม่อยากสร้างปัญหาไร้สาระให้ตัวเองอีก

ขณะที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ‘การบังคับ’ เป็นสิ่งไร้สาระ ‘การฝ่าฝืนและต่อต้าน’ ก็เป็นความไร้สาระไม่ต่างกัน และการ ‘ยอมทำตาม’ ก็ไม่ได้มาจากการยอมรับนับถือในกฎระเบียบ ที่น่าสนใจกว่าคือ ภายใต้ภาวะของ ‘การบังคับ’ นั้น การปฏิบัติของคุณครูในฐานะผู้คุมกฎ และของนักเรียนในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ล้วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ‘กระบวนการเรียนรู้’
สมชายเห็นว่า การบังคับในเรื่องการแต่งกาย ไม่สู้จะเอื้อต่อกระบวนการในการเรียนรู้ ยิ่งในเมื่อปัจจุบัน การศึกษาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อจะป้อนคนเข้าระบบราชการซึ่งทำให้ต้องเน้นระเบียบ ดังนั้น ก็น่าจะเปิดให้เด็กได้ตัดสินใจและได้เลือกบ้าง แต่ความคิดในระบบการศึกษาไม่ให้อำนาจในการตัดสินใจไว้กับเด็ก

สมชายชวนให้สังเกตความแตกต่างระหว่างคนที่อยู่ในโรงเรียนมัธยมที่มีกฎระเบียบเคร่งครัด เทียบกับคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยว่า ‘ดูในมหาวิทยาลัยก็ไม่ต่างอะไรจากมัธยม ไม่เห็นว่าจะมีคนไหนที่ไปทำอะไรทีแปลกโดดเด่นเกินไป ไม่มีหัวเขียวหัวส้ม หรือจะมี ก็เพียงระยะหนึ่ง สักพักก็เลิก’

‘ถ้าเราลองเปิดทางให้เขาได้ลองทำ มันจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ มันดีกว่าการบังคับให้อยู่ในระเบียบ เพราะเขาจะทำอะไรอย่างน้อยเขาก็ต้องคิดก่อน เช่นเขาจะตัดผมทรงอะไรเขาก็ต้องคิดก่อนว่าตัดแล้วจะดีไหม เมื่อตัดไปแล้ว เขาเดินออกจากบ้านแล้วคนก็มอง ไปกินก๋วยเตี๋ยวคนก็มอง ทำอะไรคนก็ต้องมอง’

‘นี่คือกระบวนการเรียนรู้เรื่องการตัดสินใจ ให้ได้หัดคิด มากกว่าที่เด็กจะคิดแค่ว่า ไปโรงเรียนแล้วรู้สึก ‘เชย’ จัง’.

อ้างอิง
ประภาส ชลศรานนท์. มะเฟืองรอฝาน. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕





‘เป็นผู้หญิงก็รักสวยรักงาม ถ้าให้ตัดผมเท่ากันทั้งหัวมันก็แปลกๆ
แล้วถ้าทุกอย่างมันมารวมกันอย่างที่ระเบียบตั้งไว้ มันก็...ตลก’


‘ถ้าเราลองเปิดทางให้เขาได้ลองทำ มันจะเกิดกระบวนการเรียนรู้
มันดีกว่าการบังคับให้อยู่ในระเบียบ เพราะเขาจะทำอะไรอย่างน้อยเขาก็ต้องคิดก่อน’

Comments

Anonymous said…
เขียนได้ดีมากเลยครับ

เห็นด้วยอย่างที่สุด