•_• สุภา ศิริมานนท์ Once a Journalist, Always a Journalist

สุภา ศิริมานนท์
Once a Journalist, Always a Journalist



คนที่อยู่ในแวดวงของการสื่อข่าว การหนังสือพิมพ์ น้อยคนที่จะไม่รู้จัก “สุภา ศิริมานนท์”

สุภา ศิริมานนท์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นผู้สื่อข่าวสงครามคนแรกของประเทศไทย เป็นบรรณาธิการ “นิกรวันอาทิตย์” (๒๔๘๖) และ “อักษรสาส์น” (๒๔๙๒) เคยเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย เคยรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมือง และยังเป็นผู้บริหารและฝ่ายวิชาการของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย

ตลอดชีวิตของสุภา ศิริมานนท์อาจผ่านงานที่หลากหลาย แต่ความภูมิใจที่สุดคือ การเป็น “นักหนังสือพิมพ์”

เช่น ยุคหนึ่งที่สภาพการเมืองการปกครองไม่เปิดเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าสุภา ศิริมานนท์จะทำอะไรก็ถูกเพ่งเล็ง โอกาสจะทำหนังสือพิมพ์นั้นไม่ต้องพูดถึง ช่วงนั้นสุภาจึงเข้าทำงานในบริษัทเอกชน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้ห่างหายจากโลกของแท่นพิมพ์และน้ำหมึก แม้จะเขียนบทวิเคราะห์การเมืองไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ คือการเขียนบทความสอนนักหนังสือพิมพ์ผ่านคอลัมน์ “หนังสือและนักหนังสือพิมพ์” ในเดลินิวส์ ยาวนานถึง ๗ ปี

ตอนหนึ่งในคำนำหนังสือ “นักหนังสือพิมพ์” อาจารย์สุภาเขียนเอาไว้ว่า “…การทำแต่งานอยู่ตลอดไปอย่างเดียวนั้น ถึงแม้ลักษณะและองค์ของงานจะช่วยให้ฉลาด อย่างไรก็ตาม, แต่เราก็คงเปรียบเสมือนมองเห็นแต่เพียงต้นไม้ต้นเดียวในป่าใหญ่. เมื่อได้ปลีกถอยไปจับการศึกษาข้อวิชาแห่งอาชีพที่ได้ทำจำเจอยู่ทุกวี่ทุกวันนั้นเข้าแล้ว ทัศนะของเราเองก็ขยายตัวออก, มองเห็นป่าใหญ่ไพศาล, มองเห็นจุดบกพร่องและสามารถวินิจฉัยได้ว่า ทางใดคือทางที่จะนำองค์การแห่งอาชีพไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง”

อาจารย์สุภาเป็นผู้เชื่อมความเป็นวิชาการเข้ากับความเป็นวิชาชีพ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นของขวัญที่อาจารย์สุภามอบให้แก่วงการหนังสือพิมพ์ไทย เป็นรางวัลอันมีค่าตราบจนทุกวันนี้

คำว่า “ถูกถ้วน” เป็นคำศัพท์ที่อาจารย์สุภาบัญญัติขึ้นเองเพื่อสอนแก่นักหนังสือพิมพ์ว่า ข่าวที่ดีต้องถูกถ้วน ไม่ใช่เพียงถูกต้อง การรายงานข่าวโดยถูกถ้วนคือรายงานทั้งหมดที่ได้ข่าวมา ไม่ใช่รายงานแต่สิ่งที่เราเห็นหรือคิดว่าถูกต้องเท่านั้น ไม่ว่าผู้ที่ให้ข่าวจะพูดผิดหรือถูก เราไม่สามารถตัดสินได้

และอาจารย์สุภานี้เอง ที่สอนลูกศิษย์ถึงความจริงบางประโยค เกี่ยวกับการเป็นคนหนังสือพิมพ์ ว่า “ควรจะรู้บางสิ่งบางอย่างของทุกอย่าง และควรจะรู้ทุกอย่างของบางสิ่งบางอย่าง…”

นอกจากเป็นแบบอย่างของนักหนังสือพิมพ์ที่กอปรด้วยวิชาความรู้ในอาชีพ สุภา ศิริมานนท์ เป็นตัวอย่างของปุถุชนคนหนึ่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝันและความหวังอยู่ตลอดกาล

อาจารย์สุภามีความมุ่งหวังที่อยากเห็นหนังสือพิมพ์ไทยมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์จะต้องใช้เสรีภาพอย่างมีความรับผิดชอบ อันจะทำให้หนังสือพิมพ์ไทยมีแต่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

อาจารย์สุภาเคยกล่าวไว้ว่า ความฝันและความหวังของอาจารย์เกี่ยวกับวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไทยนั้น เกิดขึ้นและหวั่นไหวคราวละเล็กละน้อย ปะติดปะต่อบ้าง โดดเดี่ยวบ้าง และโดยที่แท้ก็เกิดมาจากนักหนังสือพิมพ์เล็กๆ คนหนึ่ง จึงอาจจะเป็นความฝันบ้าๆ และความหวังโง่ๆ ไม่เป็นสาระอันใด

เชื่อแน่ว่า “ความฝันบ้าๆ” และ “ความหวังโง่ๆ” ที่ไม่เป็นสาระอันใดนั้น ได้บังเอิญมีส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ความรู้สึกนึกคิดของนักหนังสือพิมพ์รุ่นหลัง ทั้งนี้ คงเพราะอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ผู้ฝันและผู้หวังนี้ ฝันและหวังด้วยเจตนาดี ให้นักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังไม่เคยละเว้นที่จะทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะทำให้อาณาจักรหนังสือพิมพ์เราดีขึ้น

ช่วงปีพ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๒๖ เป็นช่วงที่อาจารย์สุภามาเป็นอาจารย์พิเศษวิชาการหนังสือพิมพ์ให้แก่นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ จนได้รับการประศาสน์ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางวารสารศาสตร์ จากสภามหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. ๒๕๒๖

อาจารย์สุภาเป็นคนสุขภาพไม่ค่อยดีมาแต่ไหนแต่ไร ช่วงที่อาจารย์สุภาสอนหนังสือที่คณะวารสารศาสตร์ฯ วันไหนไปสอนหนังสือเมื่อกลับบ้านมาจะเสียงแหบแห้ง เคยปรารภกับภรรยาว่า นักศึกษามาบ่นว่าเสียงค่อยไป ฟังไม่ได้ยิน จะแก้ไขอย่างไรดี ถึงกระนั้น อาจารย์สุภายังคงมาสอนหนังสือไม่ขาด แม้ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นจะทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งจากโรคประจำตัว และโรคมะเร็งที่รุมเร้าอยู่ก็ตาม

การมาบรรยายที่คณะวารสารศาสตร์ฯ อาจารย์สุภาไม่เคยรับค่าตอบแทน ทั้งที่ฐานะมิได้ร่ำรวยทั้งยังมีภาระที่ต้องเสียค่าหมอเพื่อรักษาตัวเองให้หายจากโรคร้าย แต่อาจารย์ยังเขียนตำรา พิมพ์เอกสาร ทำสำเนา เรียงหน้า ทุกขั้นตอนนอกจากจะควักสตางค์ออกเงินเองแล้ว ยังทำด้วยน้ำพักน้ำแรงของอาจารย์สุภาเองทั้งหมด

คุณจินดา ศิริมานนท์ ผู้เป็นภรรยา เล่าว่า เมื่ออาจารย์สุภาจบบรรยายหรือการสอนแล้ว จะไปถ่ายสำเนาคำสอนหรือคำบรรยายนั้นๆ แล้วนำกลับมาบ้าน มาแยกจัดลำดับเรียงให้ถูกต้อง วางเป็นชุดๆกระจายเต็มห้องรับแขก ปฏิเสธผู้ที่อาสาจะช่วยเหลือโดยจัดการคนเดียวตลอด เมื่อลำดับถูกต้องแล้ว วางตั้งเป็นชุดๆ เย็บด้วยเครื่องเย็บกระดาษ แต่ละชุดนั้น ตรงหักมุมจะใช้กระดาษแข็งและหนาหน่อยตัดเป็นชิ้นสามเหลี่ยมเล็กๆ เย็บลวดติดตรงมุมเหนือกระดาษเพื่อกันรุ่ยขาด หลังจากเย็บเป็นชุดๆเรียบร้อยแล้ว จะใช้ค้อนเล็กๆตอกตรงลวดที่เย็บให้แน่นกระชับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เนียนมือ ไม่สะดุด

ทุกสิ่งทุกอย่างลงแรงทั้งด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ทุกประการ

เย็นวันหนึ่ง อาจารย์สุภากลับจากสอนมาเล่าให้ภรรยาฟังด้วยหน้าตาที่หมองนิดๆ ว่า ‘ชีท’ ที่แจกให้นักศึกษานั้น มีบางคนนำไปรองชามก๋วยเตี๋ยวเสียแล้ว

อาจารย์สุภาเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มั่นคงในอุดมการณ์ของตนเอง ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งสอนหนังสือและอบรมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาค จนถึงห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิตที่โรคมะเร็งได้คร่าชีวิตของอาจารย์ไปจากโลกของหนังสือพิมพ์ที่อาจารย์รัก

ตลอดชีวิตของอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ไม่เคยร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง แต่ชีวิตที่สมถะและเปี่ยมสุขของอาจารย์ สอนให้คนรุ่นหลังซึมซาบได้ว่า แม้อุดมการณ์ไม่เอื้อต่อความสะดวกสบายของชีวิต แต่เพราะมีอุดมการณ์ ชีวิตจึงมีอยู่ตลอดกาล เหมือนที่อาจารย์สุภาไม่เคยตายจากพวกเราไปไหน.


ขอขอบคุณ
คุณจินดา ศิริมานนท์ และกระท่อมปักเป้า
เบื้องหลังสำคัญของวงการหนังสือพิมพ์ไทย



ตีพิมพ์ครั้งแรกปี ๒๕๔๗ ในหนังสือ ‘ไร่ส้ม’ ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Comments