•_• Farewell My Concubine & Boy meets Boy

คอลัมน์ Food for Thought
นิตยสาร s-exchange


ความรู้สึกเป็น ‘ของจริง’


Farewell My Concubine ภาพยนตร์จีนในปี ๑๙๙๓ เล่าเรื่องราวของสองหนุ่มคู่พระ-นาง ‘เสี่ยวโหลว’ (รับบทโดย Zhang Fengyi) และ ‘เตี๋ยอี’ (รับบทโดย Leslie Cheung) ซึ่งเป็นนักแสดงในวงอุปรากรจีน (งิ้ว)

เรื่องราวเปิดฉากมาในประเทศจีนปี ๑๙๒๔ และดำเนินเรื่องราวต่อเนื่องมากินเวลาอีกกว่า ๕๐ ปี เป็น ๕๐ ปีที่เหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นกระทบต่อวิถีชีวิตและจิตใจของผู้คน ทั้งจากสงครามจีน-ญี่ปุ่น การปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ และที่สร้างความบอบช้ำมากที่สุดคือ ‘การปฏิวัติวัฒนธรรม’

ที่จริง Farewell My Concubine หรือ ‘ฉอต้าอ๋องลานางสนม’ เป็นชื่อของอุปรากรปักกิ่ง บทประพันธ์นี้เป็นโศกนาฏกรรมความรัก เตี๋ยอีรับบทเป็นนางสนมที่มีความรักมั่นคง และเลือกความตายเพื่อแลกกับความรัก

นอกบทละคร เตี๋ยอีมีชีวิตที่เศร้าๆ แม่ของเขาเป็นหญิงโคมแดง พอมีลูกแล้วก็ลำบาก ยิ่งเป็นลูกชายก็ยิ่งหมดโอกาสที่จะได้เลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ เตี๋ยอีจึงถูกส่งมาที่โรงงิ้ว สมัยนั้น ใครๆ ก็ชอบดูงิ้ว เป็นศิลปะการแสดงที่เฟื่องฟู

กว่าจะเป็นนักแสดงที่ดีได้ ต้องผ่านการเคี่ยวกรำ ให้ร้อง รำ ทำเพลง บรรเลง อ่อนช้อย อย่างทรมาน เตี๋ยอีโชคดีที่มีศิษย์พี่ ‘เสี่ยวโหลว’ คอยดูแลช่วยเหลือ และทั้งคู่เป็นนักเรียนการแสดงที่มีฝีมือชั้นแนวหน้า จนได้ก้าวมาถึงจุดสูงสุดที่เป็นตัวพระตัวนางคู่กัน ทำให้ทั้งคู่สนิทสนมกันทั้งในบทและนอกบท เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เคยแยกจากกัน

แต่หลายๆอย่างเริ่มไม่เหมือนเดิม เมื่อชีวิตจริงของทั้งสองมีคนอีกคนหนึ่งก้าวเข้ามา แยกความสัมพันธ์ของคนทั้งสองให้ห่างกัน และยิ่งซ้ำร้ายเมื่อสภาพทางสังคมการเมืองเปลี่ยนไป การปฏิวัติทางวัฒนธรรมทำลายทุกอย่างที่เป็นความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา ของผู้คน ศิลปะการแสดงก็ถูกกำจัด เข้าสู่สภาพสังคมที่บีบคั้นให้คนทำร้ายกันเอง

จริงๆ แนวทางแบบ ‘การปฏิวัติวัฒนธรรม’ ยังมีให้เห็นในบางสังคมย่อยๆ เช่นพ่อแม่ที่ไม่ชอบให้ลูกๆ ฟังเพลงหรืออ่านการ์ตูน หรือแนวคิดแนวอนุรักษ์ที่อยากให้ทุกคนเป็นเหมือนๆ กันเพียงแค่แบบเดียว ซึ่งไม่ได้ให้ผลดีอะไรมากไปกว่าการสร้างความรวดร้าวแก่คนในสังคมเดียวกัน

ชีวิตจริงเปลี่ยน สภาพสังคมเปลี่ยน สุดท้ายจึงมีเพียงเรื่องราวในบทประพันธ์ที่สอนให้รู้จักแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ และเป็นสิ่งเดียวที่ยังเป็นนิรันดร์

ถัดมาอีก ๑๐ ปี เมื่อปีที่แล้ว Boy Meets Boy หรือ บอยกิ๊กบอย เป็นนวนิยายอเมริกัน เล่าเรื่องของกลุ่มเพื่อนวัยรุ่น ผ่าน ‘พอล’ หนุ่มเกรด ๑๑

ฉากหลังของเรื่อง เป็นเมืองที่มีความหลากหลาย เช่นสถานที่เที่ยวในเมืองนี้ ไม่มีที่เที่ยวของเกย์ หรือชายล้วน หญิงล้วนอยู่ แต่ผสมปนเปกัน และแต่ละตัวละครก็มีลักษณะที่เด่นชัดและน่าสนใจ เช่น ‘พอล’ ผู้ซึ่งมั่นใจว่าตัวเองเป็นเกย์อย่างแน่ชัดตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ มีเพื่อนสนิทที่รู้ใจกันมากชื่อ ‘โทนี่’ เป็นเพื่อนที่ต่างฝ่ายต่างรู้กันว่า ระหว่างทั้งสองมีอะไรบางอย่างที่หาได้ยากและมีความหมายมากกว่าแค่เรื่องรักๆใคร่ๆ

‘โจนี่’ สาวสวยอีกคนที่สนิทกันมาก ถึงขั้นนิยามความสัมพันธ์กันว่า ถ้าหากได้เป็นแฟนกัน ต่างฝ่ายต่างจะได้สิ่งที่ดีที่สุด และมิตรภาพที่ไม่ต้องมีความกดดันทางเพศ

‘ไคล์’ อดีตคนรักที่สับสนว่าตัวเองชอบคนแบบไหน แต่ก็เกลียดการถูกติดฉลากจากคนอื่น และ ‘โนอาห์’ คนอ่อนไหวและเป็นคนรักของพอล

สังคมใน Boy meets Boy เป็นสังคมที่ค่อนข้างอยู่ตัว คนวัยแสวงหารู้จักตัวเองดี และต่างมีส่วนช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมในสังคมให้ดีไปด้วย เช่น การอยากให้คนอื่นมีความสุข ไม่ตัดสินกัน แต่เลือกจะรับฟัง และเชื่อมั่นผู้อื่น เมืองนี้จึงเป็นเมืองในอุดมคติของคนทุกเพศ

ขณะที่ ‘Farewell My Concubine’ ประณีตและลึกซึ้ง ‘Boy Meets Boy’ ก็โรแมนติกมาก

งานสองชิ้นนี้ เรื่องหนึ่งอยู่ในศตวรรษที่ ๒๐ อีกเรื่องอยู่ในศตวรรษที่ ๒๑ ดูแล้วชวนให้คิดลึกต่อไปไกลได้หลายมิติทีเดียว



Farewell my concubine / หลายแผ่นดินแม้สิ้นใจก็ไม่ลืม (๑๙๙๓)
ภาพยนตร์จีนCast: Leslie Cheung, Zhang Fengyi, Gong LiDirector: Chen KaigeScreenplay: Lilian Lee and Lu Wei based on the novel by Lilian Lee


Boy meets Boy / บอยกิ๊กบอย (๒๐๐๓)
นวนิยายอเมริกัน
เรื่อง : เดวิด เลวิธาน
แปล: โตมร ศุขปรีชา
สำนักพิมพ์วงกลม, ๒๕๔๗

Comments

น่าสนใจ โดยเฉพาะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงนี้ของจีน ไว้ต้องไปหามาดู