•_• เรียกฉันว่า ‘เด็กคนหนึ่ง’

คอลัมน์ Food for Thought
นิตยสาร s-exchange


เรียกฉันว่า ‘เด็กคนหนึ่ง’


“แม้ค่ำคืนที่มืดมิด ก็ยังมีพระจันทร์ส่องแสงสดใส
ภาพฉันชมพระจันทร์ในค่ำคืนที่สดใส
เป็นค่ำคืนที่สดใสในใจฉัน”


เรื่องราวน่ารักๆเริ่มต้นขึ้น เมื่อผู้ใหญ่ใจดีกลุ่มหนึ่งมองเห็นว่า ยังมีโลกใบน้อยๆของเด็กจำนวนมากที่รอการเยียวยา

เด็กเหล่านั้น คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี

ความเศร้าของพวกเขา ไม่ใช่เรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากแต่เป็นความเศร้าที่ต้องอยู่อย่างบกพร่องในการยอมรับ อยู่ในสถานะที่ไม่เป็นที่ต้องการ เหมือนประโยคหนึ่งในหนังสือที่บอกว่า เด็กๆไม่ได้กำลังต่อสู้กับ “โรคร้าย” หากแต่กำลังเผชิญกับ “โลกร้าย” ต่างหาก

ในปีนี้ พ.ศ.นี้ ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่า เอชไอวี คืออะไร และยังคงอยู่ภายใต้ความคิดที่มองผู้ติดเชื้ออย่างรังเกียจรังงอน

ผู้ใหญ่ใจดีกลุ่มนั้น เห็นแง่มุมของเรื่องนี้ จึงรวมกันหาวิธีสื่อสารเรื่องราว โดยให้ศิลปะเป็นสื่อ สร้างพื้นที่ให้เด็กๆได้สื่อสาร และอีกทางหนึ่งก็ให้ศิลปะช่วยเยียวยาจิตใจ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ “กลุ่มเราเข้าใจ” หรือ We Understand Group

“เราเข้าใจ” ก่อตัวขึ้นผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างเด็กที่เข้าร่วมและผู้ใหญ่ที่ทำค่ายศิลปะ เด็กบางคนที่ในยามปกติเป็นคนเงียบเฉย ไม่ยอมพูดจาหรือเปิดเผยความรู้สึก เมื่อได้แต้มสีลงบนกระดาษ ดูเหมือนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจก็พรั่งพรูออกมา

เราจึงได้เห็นความหมายที่ซ่อนอยู่ในใจของ หน่อง เพลง เปิ้ล เอก หนึ่ง จอย เจ ยอด ฟ้า ฝ้าย อ้อม นิว ซาร่า บอย เก่ง และ บัว

พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิต แสวงหาการยอมรับ แบกรับภาระทางความรู้สึก ผลงานของหลายๆคนสะท้อนถึงความเหงาในจิตใจ เป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งและท่วมท้นจนเกินที่เราคาดว่า เด็กจะรับไหว


“ถึงพวกเขาจะเป็นเด็ก แต่ไม่เล็กเกินจดจำ และไม่มีใครเด็กเกินไปจนไม่รู้สึก”


ครั้งหนึ่งที่ครูให้วาดภาพ “ฉันกับตลาด” ภาพของด.ญ.อ้อม ที่ปรากฏออกมา คือตลาดที่อยู่บนสวรรค์ ที่ที่พ่อและแม่ของอ้อมอยู่ที่นั่น อ้อมคิดถึงพวกเขา แต่เธอก็รู้ว่าเธอต้องใช้ชีวิตต่อไปอยู่ในโลกแห่งความจริงใบนี้


เด็กๆยังคงต้องการความเข้าใจที่เขาควรได้รับจากคนรอบข้าง แต่มันไม่ง่ายที่จะไปบังคับใจคนอื่นให้เขามาเข้าใจเรา บังคับใจตัวเองง่ายกว่า เด็กๆเองก็เรียนรู้ที่จะเริ่มต้นจากการเปิดใจกว้างและทำความเข้าใจคนอื่นก่อน


เช่น แม้ ด.ญ. เก่งเขาจะรู้อยู่แก่ใจว่า เชื้อเอชไอวีไม่ได้ติดต่อง่ายๆ แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องเลือกซื้อของขวัญสำหรับจับสลากในงานปีใหม่ เธอเลือกซื้อของขวัญด้วยความตั้งใจ และพิถีพิถันพอที่จะไม่แตะต้อง จะถือก็ถือเพียงกล่องที่ห่อหุ้ม เพราะไม่อยากเป็นภาระให้ใครต้องรู้สึกรังเกียจ

น่าเสียดายที่ไม่มีใครมองเห็นคุณค่า ของขวัญของเก่งไม่มีใครอยากได้ ของขวัญคืนได้ แต่ใจที่ใส่ไปในของขวัญยากจะหวนกลับคืน

บันทึกตอนหนึ่งของด.ญ.เก่ง เขียนถึงวิธีที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สองวิธีท้ายสุดคือ “ให้มีกำลังใจ” และ “ให้มีคนดูแลเวลาไม่สบาย” … ความละเอียดอ่อนและกำลังใจแบบนี้ ไม่ต้องให้ติดเชื้อเอชไอวี แต่เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็โหยหา

ความจริงคือ พวกเขาเป็นเพียง “เด็กคนหนึ่ง” ไม่ต้องรังเกียจ ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ เพราะเขาไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นเลย

คนทำบอกว่า ศิลปะนี้ เป็นศิลปะเพื่อการเยียวยา อีกด้านหนึ่ง ผลงานเหล่านี้ไม่เพียงเยียวยาจิตใจแก่ผู้สร้าง แต่ยังเปิดแง่มุมงามที่จรรโลงจิตใจให้แก่ผู้เสพด้วย

ท้ายสุด ผลงานศิลปะเหล่านี้ ทำให้เราลืมเรื่องเอชไอวีไปเลย กระทั่งลืมไปว่า พวกเขาคือ “เด็ก” แต่มันยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะเราได้เปิดดวงตามองเห็นความคิด ความรู้สึกของมนุษย์ปุถุชน คนธรรมดาที่ต่างต้องการความรักและการทะนุถนอม

ภายใต้ความมืดมิด หลายชีวิตยังเฝ้ารอแสงสว่าง ไม่เพียงผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่ยังมีคนหลายกลุ่มที่ยังรอการยอมรับ ภาพวาดของเด็กๆ เข้าไปรื้อฟื้นก้นบึ้งของจิตใจ กระตุ้นให้เราไม่ลืมว่า ใครๆก็มี “หัวใจ”


Paint my life นิทรรศการวาดชีวิต (มิถุนายน ๒๕๔๗)
นิทรรศการจัดแสดงไปแล้วในหลายแห่ง แต่โชคดีสำหรับคนที่พลาดไม่ได้ชมผลงาน สามารถเข้าถึงงานเหล่านี้ผ่านหนังสือสองเล่ม คือ
· Art Exhibition : Paint my Life ภาพวาดและบทบันทึกของเด็กที่มีเชื้อเอชไอวี ท้ายเล่มแนบCDบทเพลงใสๆ ฝีมือเด็กๆและศิลปินประกอบด้วย
· วาดค่ำคืนไม่ให้มืดมิด วาดชีวิตไม่ให้อ่อนแอ Paint brightness into the night, Paint my life to fight weakness เรื่องราวและภาพวาดชีวิตเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของด.ญ.เก่ง และ ด.ญ.บัว อายุ ๑๓ ปี
ทั้งสองเล่ม มีสองภาษา ไทยและอังกฤษ อยากได้หนังสือขอสั่งซื้อได้กับ
กลุ่มเราเข้าใจ
๔๘/๒๘๒ เซ็นเตอร์เพลส รามคำแหง สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
โทร. ๐-๑๑๑๗-๙๗๕๘ อีเมล์ ouichutima@yahoo.com

Comments