•_• High Fidelity & Metrosexual

Food for Thought
นิตยสาร s-exchange

อกสามศอก

‘อะไรมาก่อน ดนตรีหรือความเศร้า คนมักเป็นห่วงเมื่อเด็กเล่นปืน ดูหนังที่มีความรุนแรง ไม่มีใครเป็นห่วงที่เด็กฟังเพลงเป็นพันเป็นหมื่นเพลงที่พูดถึงเรื่องอกหัก ถูกปฏิเสธ เจ็บปวด โศกเศร้า และสูญเสีย’

นี่คือส่วนหนึ่งของประโยคเปิดภาพยนตร์เรื่องไฮฟิเดลลิตี้ (Hifidelity – ฝีมือการประพันธ์โดย Nick Hornby) ซึ่งตัวเอกของเรื่อง ร็อบ กอร์ดอน (Rob Gordon รับบทโดย John Cusack) ชายหนุ่มเจ้าของร้านขายแผ่นเสียงเอ่ยขึ้น ในภาวะที่เพิ่งถูกอกหักมาหมาดๆ

ร็อบ กอร์ดอน อกหักครั้งใหญ่จากผู้หญิงที่เขารักมาก แต่หลอกตัวเองว่าไม่ได้เสียใจ และคิดเอาเองว่า ถ้าเทียบประสบการณ์ชีวิตรักที่ผ่านมา เธอไม่ได้ติดแม้แต่ห้าอันดับแรกของผู้หญิงที่ทำให้เขาเจ็บปวดที่สุด

ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องโดยตัดสลับภาพปัจจุบันกับอดีตคนรักของเขาแต่ละคน ซึ่งคนดูดูแล้วก็คงไม่แปลกใจที่ทำไมรักนั้นจึงไม่สมหวัง เพราะร็อบคบผู้หญิงทั้งที่ไม่รู้จักตัวเองดีพอ

ผู้หญิงคนแรกที่เขาถือว่าเป็นแฟน ร็อบสัมพันธ์ด้วยเพียงเพราะอยากรู้อยากเห็นในเพศตรงข้าม

ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง เขาคบโดยมีความคิดว่า เขาเป็นเจ้าของร่างกายของผู้หญิง และมีเป้าหลักที่ต้องมีเซ็กส์กับเธอให้ได้

อีกคนที่เขาคบ ก็เพราะพ่ายแพ้ในความหลงใหลเสน่หา โดยไม่ได้คิดว่า เขาและเธอแตกต่างกันมากเหลือเกิน และกับบางคน ร็อบต้องเป็นตัวปลอมเพื่อทำตัวให้เข้ากับคนที่เขาคบให้ได้

แต่หารู้ไม่ว่า แท้จริงผู้หญิงที่ทำให้เขาเจ็บที่สุดคือแฟนคนหลังสุดที่เพิ่งเลิกรากันไป ร็อบไม่เข้าใจว่าทำไมชะตาของเขาต้องเกิดมาเป็นคนที่อกหักตลอดกาล เขาถึงขั้นติดต่อกลับไปยังผู้หญิงที่เขาเคยคบ เพียงเพื่อถามว่า ‘ทำไมคุณถึงทิ้งผมไป’

ไฮฟิเดลลิตี้ มีมุมที่น่าสนใจเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ และการเรียนรู้ความหมายของความรัก เรื่องนี้ยังเป็นนวนิยายและภาพยนตร์ในดวงใจของผู้ชายหลายๆคน เหมือนที่เรื่อง บริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ (Bridget Jones's Diary) เป็นภาพยนตร์ในดวงใจของผู้หญิงมากมาย จนเมื่อไฮฟิเดลลิตี้ฉบับนวนิยายแปลเป็นภาษาไทยขายในเมืองไทย ก็มีคำพาดที่หน้าปกว่า เป็น บริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ภาคผู้ชาย

ที่จริงคงไม่ยุติธรรมหากเปรียบแบบนั้น เพราะเรื่องไฮฟิเดลลิตี้บอกเล่าประสบการณ์ความรักที่มีมุมมองเชิงลึกและละเอียดอ่อน ที่ไม่พบในเรื่องบริดเจ็ท โจนส์ฯ และร็อบ กอร์ดอน ในไฮฟิเดลลิตี้ ก็ไม่เหมือน ‘โจนส์’ ในบริดเจ็ท โจนส์ฯ ตรงที่ร็อบ กอร์ดอน บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตรัก ผ่าน ๕ อันดับหญิงสาวที่หักอกเขา ขณะที่ประสบการณ์ชีวิตรักของโจนส์ คือ อายุจวนเจียน ๓๐ แล้วยังไม่มีแฟน

……………………

ช่วงนี้ มีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงการกำหนดคุณค่าดั้งเดิมของความเป็นชายให้คลุมเครือ

เช่น กลยุทธ์การตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเครื่องแต่งกาย ในพักหลังๆ ไม่ได้เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้หญิงเท่านั้น แต่เริ่มขยายตลาดไปที่ผู้ชายมากขึ้น และเช่นเดียวกัน ก็เริ่มมีการนิยามความหมายของเพศชายในลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า เมโทรเซ็กส์ชวล (Metrosexual)

ลองเข้าไปค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต จะพบว่ามีหลายๆเวบไซต์ที่พูดถึงเรื่องนี้
มาร์ก ซิมป์สัน บุคคลที่ได้รับการขนานนามจากนักเขียนส่วนหนึ่งว่าเป็นผู้สร้างคำนี้ นิยามความหมายของเมโทรเซ็กส์ชวลไว้ในเวบไซต์
www.marksimpson.com ว่า คือชายหนุ่มที่มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอย อาศัยอยู่ในเขตเมืองซึ่งเป็นบริเวณที่เข้าถึงร้านค้าหรูหรา เป็นผู้ชายรักสวย สนใจแฟชั่น ชอบเข้าร้านทำผม ทำเล็บ

ผู้ชายเมโทรเซ็กส์ชวลมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเกย์ ซึ่งจริงๆไม่ใช่ (หรือไม่ใช่เสมอไป) ผู้ชายเมโทรเซ็กส์ชวลก็ชอบผู้หญิงเหมือนกัน (หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้) ซึ่งความเข้าใจและมุมมองที่มีต่อผู้ชายเมโทรเซ็กส์ชวลก็กระทบกับภาระของความเป็นชายในอุดมคติที่ถูกกำหนดคุณค่าว่า ต้องอกสามศอก เข้มแข็ง ผจญภัยได้ เหงื่อไหลไคลย้อยได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ค่อยมีโอกาสสวยงามสักเท่าไร

อย่างไรก็ดี คงไม่ยุติธรรมนัก ถ้าจะตีตราหรือเหมารวมพฤติกรรมหนึ่งๆให้อยู่ในกล่องที่จัดวางไว้

เราไม่รู้ว่า เพราะมีกลยุทธ์ทางการตลาด จึงเกิดผู้ชายเมโทรเซ็กส์ชวล หรือเพราะมีผู้ชายแบบเมโทรเซ็กส์ชวล จึงเปิดช่องทางทางการตลาดใหม่ๆขึ้น

แต่น่าคิดอยู่ว่า ลงผู้ชายจะอยากสวยแล้วเครื่องสำอางที่จะใช้จำเป็นต้องแบ่งเพศด้วยหรือ กระแสบริโภคนิยมอย่างนี้ต้องระวังว่า อยู่นิ่งๆก็อาจถูกจับเข้ากลุ่มเป็นเซ็กเมนท์หนึ่งทางการตลาดโดยไม่รู้ตัว



ภาพยนตร์เรื่อง High Fidelity
กำกับภาพยนตร์ : Stephen Frears
อำนวยการผลิต : Tim Bevan, Rudd Simmons
นักแสดง : Joan Cusack, Jack Black, Carroll O'Connor, Iben Hjejle

Metrosexual
มีหลายเวบไซต์ที่พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ และนี่คือตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ
www.marksimpson.com www.theage.com.au www.edifyingspectacle.org

Comments

Anonymous said…
น้องนิ้วทำให้พี่อยากดูหนังและอ่านหนังสือเรื่องนี้
รีวิวต้องทำหน้าที่ได้แบบนี้ใช่ไหม
คือทำให้คนอ่านรู้สึกรู้สาและอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้น
ไม่ควรบอกจนหมดเปลือก
หรือรีวิวก็บอกหมดได้อ่ะ
ช่วยไขให้กระจ่างแจ้งแก่ผู้ที่เพิ่งหัดเขียนรีวิวได้รู้ด้วย

^^
Niw Wong said…
ถ้าบอกจนหมดเปลือก เราก็จะเสี่ยงเพราะไม่มีทางที่จะเล่าให้ได้อรรถรสแบบคนเขียน

แล้วคนอ่านก็จะโกรธด้วยนะ ที่ดันไปเล่าเรื่องก่อน

จริงๆ ก็เขียนไม่ค่อยเป็นเหมือนกันล่ะพี่แอม แต่คิดแค่ว่า ให้คนอ่าน อ่านสนุก แล้วก็ควรจะอ่านได้หมด ไม่ว่าจะได้อ่านหรือดูงานชิ้นที่เราพูดถึงแล้วหรือยัง

พี่แอมเขียนบ่อยๆ นะ คิดถึงภาษาอุ่นๆ หวานๆ อิอิ
Anonymous said…
ภาษาน่ะอุ่นและหวาน
แต่พี่น่ะ มะอุ่นและมะหวาน