•_• เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตอน 2

สอง

อำนาจเหนือกฎหมาย

ร่างพรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นกฎหมายฉบับที่ยกเว้นกฎหมายจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายเวนคืน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ยกเว้นกฎหมายที่ดิน กฎหมายสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินราชพัสดุ พรบ.คณะสงฆ์ ที่ธรณีสงฆ์ กฎหมายผังเมือง กฎหมายภาษีอากร กฎหมายร่วมทุน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งยกเว้นกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษเอง

การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหนึ่งๆ ทำได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เช่น พระราชกฤษฎีกาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองใหม่นครนายก, พระราชกฤษฎีกาเขตเศรษฐกิจพิเศษสนามบินสุวรรณภูมิ พระราชกฤษฎีกาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ฯลฯ โดยสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกานั้น อำนาจมาตรา 17 (6) ของร่างพรบ. ยอมให้มีวิธีการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกเหนือจากที่ได้บัญญัติไว้ในพรบ. หรืออีกนัยหนึ่งคือ สามารถยกเว้นในตัวเอง

การตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทำได้ไม่ต้องผ่านอำนาจสภา สภามีหน้าที่เพียง “ทราบ” เท่านั้น

และดังที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า สำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีฐานะเป็นองค์กรมหาชน แต่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายมหาชน[1] ซึ่งกฎหมายยอมให้มีการตั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ แต่ที่ยังไม่มีในข้อกฎหมายคือ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีแนวโน้มว่าจะต้องมีแรงงานข้ามชาติเข้าทำงานจำนวนมาก ทว่าไม่มีบทบัญญัติใดที่บ่งบอกว่า แรงงานข้ามชาติ จำนวนมากในอนาคตจะได้รับความคุ้มครองอย่างไร

ความสัมพันธ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับการยกเว้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามมาตรา 17(7)
[2]

เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยกเว้นรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เรื่องการเวนคืน คือ รัฐธรรมนูญระบุว่า หากการเวนคืนไม่ได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ต้องคืนให้แก่เจ้าของ แต่มาตรา 23 ของเขตเศรษฐกิจพิเศษระบุว่า ถ้ามีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ให้ดำเนินจัดซื้อ เช่าซื้อ เช่าระยะยาว แลกเปลี่ยน ถมทะเล หรือเวนคืน วิธีการดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดย คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน)[3] ที่ดินที่ได้มาโดยวิธีการทั้งหมด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อได้พัฒนาแล้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขตมีอำนาจ ขายได้ ให้เช่าซื้อได้ ให้เช่าได้ แลกเปลี่ยนได้

ยกเว้นพ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษจัดการเวนคืนได้ จ่ายค่าทดแทนเป็นเงินก็ได้ เป็นทรัพย์สินก็ได้ แลกเปลี่ยนก็ได้[4] โดยให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับ “โดยอนุโลม”

ยกเว้นกฎหมายสิ่งแวดล้อม เรื่องการถมทะเล ใน มาตรา 29 ระบุว่า ในกรณีจำเป็นและสมควร เมื่อได้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วว่ามีความเหมาะสม และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายแล้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจถมทะเลเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ กฎหมายเขียนโดยใช้ความเห็นตามมาตรฐานที่เป็นความ “จำเป็นและสมควร”

กรณีนี้ ไม่ได้บอกว่าให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ไปศึกษาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม ถ้า “เหมาะสม” ก็ถมทะเลได้ ถ้าเขตเศรษฐกิจเห็นว่าจำเป็นและสมควร

ยกเว้นกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ เขตคุ้มครองรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยานแห่งชาติ มาตรา 30 วรรคสอง ยอมให้ ผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษและเจ้าหน้าที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีอำนาจเข้าไปครอบครอง พัฒนา ใช้ที่ดิน “ตามความจำเป็น” แต่ต้องไม่ทำให้สภาพแห่งป่าต้องเสียหาย “จนเกินสมควร” [5]

ยกเว้นกฎหมายที่เกี่ยวกับที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ธรณีสงฆ์

ยกเว้นประมวลแพ่งเรื่องการเช่าอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 540 โดยกฎหมายฉบับนี้ ตามมาตรา 26 กำหนดว่าการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือใช้ประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นให้เช่าเป็นระยะเวลาคราวหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 50 ปี - ไม่เกิน 99 ปี

ยกเว้นประมวลกฎหมายที่ดิน ยกเว้นพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ตามมาตรา 27 (3) ให้การเช่า เช่าช่วงเกิน 100 ไร่ ไม่ต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดิน

ยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[6] ยกเว้นกฎหมายที่ดิน กฎหมายสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินราชพัสดุ พรบ.คณะสงฆ์ ที่ธรณีสงฆ์ นั่นคือ ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษชำระราคาที่ดินให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแล ตามราคาที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินราคาประเมินเพื่อประโยชน์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกานั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าว และให้ที่ดินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน[7]

ทั้งนี้ สาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ปกติไม่มีการจดทะเบียนสิทธินิติกรรม ไม่มีราคาประเมิน ในเมื่อสาธารณสมบัติของแผ่นดินมันประเมินไม่ได้ จดทะเบียนไม่ได้ ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเท่ากับเขียนหลอกไว้
ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่พลเมืองยังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่ เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษจัดที่ดินแปลงอื่นที่มีลักษณะและความสะดวกใกล้เคียงกันให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทน มีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าว และให้ที่ดินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน
[8]

นายสัก กอแสงเรือง ยกตัวอย่างและให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ท่านไปให้กรมที่ดินประเมินราคาสนามหลวงสิครับ ไปดูว่ามันมีราคาประเมินไหม มันไม่มี เขียนจนเพลินเลยไป จนลืมคิดไป สนามหลวงไม่มีราคาประเมินครับ! และถามว่าเรามีสนามหลวง 2 แล้ว หรือสนามหลวง 3 มาแทนแล้ว เอาสนามหลวงไปจัดได้ไหม บางอย่างมันมีคุณค่าของมันต่างหาก นี่บอกว่าเอามาแทนแล้วใช้ได้เลย ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษเลย”

นอกจากนี้ ในมาตรา 31(3) ระบุว่า ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการ ถ้าทางราชการเลิกใช้หรือยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังตามราคาที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่เกินราคาประเมินเพื่อประโยชน์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกานั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าว และให้ที่ดินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ[9]

ทั้งนี้ ที่ดินที่ราชการใช้ สงวนไว้สำหรับราชการใช้ เลิกใช้แล้ว หรือยังไม่ได้ใช้ กำหนดครอบคลุมกว้างขวาง ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเอามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด

ที่ดินอันเป็นที่ธรณีสงฆ์ เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับความยินยอมจากวัด และจ่ายค่าผาติกรรมให้แก่วัดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนดแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตกเป็นของเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยไม่ต้องดำเนินการตราพระราชบัญญัติโอนที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ หรือในกรณีที่วัดประสงค์จะให้เช่าแทนการโอน ก็ให้ดำเนินการเช่าระยะยาวตามระยะเวลาที่กำหนดในมาตรา ๒๖ ได้[10]

นั่นคือ เพียงแต่ได้รับการยินยอมจากวัดก็ทำทันที มหาเถระสมาคมเพียงกำหนดค่านผาติกรรมเท่านั้น ไม่มีอำนาจจะยินยอมหรือไม่ยินยอม

ยกเว้นพรบ.ผังเมือง[11] การกำหนดผังเมืองที่มีอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้ “สิ้นผลบังคับ” และให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดทำผังเมืองใหม่ ทั้งนี้ ผังเมืองก็คือการควบคุม การกำหนดโซนต่างๆ เงื่อนไขต่างๆ ในการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง กว่าจะทำผังเมืองต้องผ่านขั้นตอนมากมาย แต่เมื่อประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะได้รับการยกเว้นทั้งหมด เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นฝ่ายทำผังเมืองใหม่ เพื่อประโยชน์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ยกเว้นกฎหมายภาษีอากร ค่าธรรมเนียมทั้งหลาย[12] ไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และ “ภาษีทรัพย์สิน” ยกเว้นภาษีทั้งหมด แม้กระทั่งภาษีทรัพย์สินที่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมาย แต่ได้เขียนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว นอกจากนี้ แม้ไม่ใช่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่เป็นของคนอื่นที่ขายไปแล้ว ซื้อไปแล้ว เช่าไปแล้ว ก็สามารถที่จะได้สิทธิพิเศษในส่วนนี้ได้ ข้อยกเว้นเช่นนี่ แม้รัฐวิสาหกิจที่เป็นไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ยังไม่เคยได้รับการยกเว้นเลย ซึ่งมาตราดังกล่าว ย่อมกระทบต่อระบบภาษีต่างๆ กระทบต่อรายได้ของแผ่นดิน

ยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธินิติกรรม ยกเว้นภาษีเงินได้เกี่ยวกับการทำนิติกรรม[13] การทำอสังหาริมทรัพย์ บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่เขตได้มา ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ และคู่กรณี ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทั้งปวง ในกรณีที่มีกฎหมายให้เขตเศรษฐกิจพิเศษต้องเสียภาษีเงินได้ จากการได้มาหรือแลกเปลี่ยน ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวด้วย และยังยกเว้นไปถึงกรณีที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโอนอสังหาริมทรัพย์แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้น หรือที่ร่วมลงทุน หรือจำหน่ายเพื่อประโยชน์อื่นใด นั่นคือ การจำหน่ายจ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม ไม่เฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น คู่สัญญา บริษัทร่วมลงทุน ได้รับยกเว้นหมด

ยกเว้นอำนาจของหน่วยงานรัฐ คณะกรรมการต่างๆ ตามกฎหมายอื่นๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษตามมาตรา 50 (1) - (12) กรณีที่จะต้องได้รับอนุญาต หรือต้องได้รับอนุมัติ หรือต้องจดทะเบียน หรือต้องทำอะไรทั้งหลายทั้งปวง ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจดำเนินการได้โดยไม่ต้องรับอนุมัติ รับอนุญาต ไม่ต้องจดทะเบียน ไม่ต้องขอมติอะไรทั้งสิ้น ถ้าหากว่ามีกฎหมายที่บังคับให้ต้องมีใบอนุญาต ต้องอนุมัติ ต้องได้รับความเห็นชอบ หรือต้องจดทะเบียน ก็ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าการ ก็ให้ถือว่าผู้ว่าการมีอำนาจตามกฎหมาย ”อื่นๆ” ทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับ (1)-(12) ตามมาตรา 50

“ผู้ว่าการคือลูกจ้างที่จ้างมา มีฐานะเป็นลูกจ้าง แต่ให้มีอำนาจเท่ากับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต่างๆทุกฉบับ กรณีที่มีปัญหาว่าเป็นอำนาจของผู้ว่าการหรือไม่ กฎหมายฉบับนี้ก็เขียนว่าให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายเป็นผู้วินิจฉัย และให้เป็นที่สุด ส่วนนี้เป็นการใช้อำนาจการตุลาการเลยนะครับ” นายสัก กอแสงเรืองกล่าว

ยกเว้นอำนาจหน้าของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ โดยให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายต่างๆ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 10 เป็นของเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนั้นยังบอกว่า ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเก็บค่าบริการ นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมได้ ตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด แล้วเก็บค่าบริการได้เท่าไร แบ่งให้ท้องถิ่น “สิบเปอร์เซ็นต์”

ละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจพิเศษ ที่ใครจะเข้าไปประกอบกิจการอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์ ต้องได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์ ตามเงื่อนไขที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกำหนดในมาตรา 59[14] และมีอำนาจสั่งให้คนออกจากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ได้ตามมาตรา 60, 61 และมีโทษตามมาตรา 99

เมื่อคนที่เข้าไปแล้วไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดของเขตเศรษฐกิจพิเศษในมาตรา 60 ก็ให้อำนาจของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะใช้อำนาจในการเพิกถอนใบอนุญาต ยกเลิกการเช่า ยกเลิกการซื้อขาย ให้ออกจากที่ดิน

ในกรณีที่ผู้เข้าประกอบกิจการหรืออยู่อาศัย โดยซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจยกเลิกการซื้อขายและสั่งให้ผู้นั้นออกจากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นนั้น ให้คืนค่าที่ดินตามราคาประเมินของผู้ประเมินอิสระที่เขตตั้งขึ้น หักด้วยค่าทดแทน ที่คำนวณจากอัตราค่าเช่าที่เขตพึงเรียกเก็บได้จากวันที่ซื้อจนถึงวันที่ออกไป แล้วสั่งให้ออกไปภายในกำหนดที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกำหนด ถ้าไม่ปฏิบัติตาม เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจรื้อถอนได้ เข้าไปยึดครอง เข้าไปครอบครอง เข้าไปรวบรวมทรัพย์สินขนย้ายไปที่อื่นได้ ด้วยค่าใช้จ่ายของเจ้าของ ขายทอดตลาดในทรัพย์สินที่เห็นว่า ถ้ารักษาไว้มีค่าใช้จ่ายหรือเสื่อมสภาพได้ ก็เอาเงินเก็บไว้ หักค่าใช้จ่าย หักค่าบริการ รื้อถอน ก็ไปคืนเจ้าของ ในส่วนนี้ เป็นการยกเว้นอำนาจตุลาการ ไม่ต้องขึ้นศาล ไม่ต้องฟ้องศาล ไม่ต้องบังคับคดี เขตเศรษฐกิจพิเศษใช้อำนาจตุลาการ ใช้อำนาจบังคับคดี เป็นคนสั่งเอง เป็นคนฟ้องเอง เป็นคนวินิจฉัยเอง เป็นคนตัดสินเอง เสร็จ เด็ดขาด

ยกเว้นได้แม้แต่มติครม.[15]

ยกเว้นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[16] ภายในเขตพื้นที่ที่เป็นที่ดินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เขตเศรษฐกิจพิเศษร้องขอเท่านั้น ถ้าเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้ร้องขอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ ถ้าภายในพื้นที่ที่มิได้เป็นที่ดินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ “ประสานงาน” ให้สอดคล้อง คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจแค่ประสานงานและดำเนินการให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้ามีปัญหาก็ให้คณะกรรมการนโยบายวินิจฉัย ส่วนนี้ก็คือยกเว้นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ถ้ามีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถที่จะแจ้งให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแก้ไขได้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ “กรรมการนโยบายเป็นผู้ชี้ขาด” และทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามนั้น เป็นการใช้อำนาจตุลาการเหมือนกันในมาตรา 56[17]

ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดำเนินการปรับแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ หรือแผนอื่นใดของจังหวัด ให้สอดคล้อง และเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ[18] ส่วนนี้เป็นภาคบังคับของผู้ว่าต้องปรับแผนทั้งหมดให้สอดคล้องกันตามเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ยกเว้นกฎหมายร่วมทุน ในกิจการของรัฐ มาตรา 58[19] อำนาจหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการหรือจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นดำเนินการแทนก็ได้ ใช้วิธีจ้างให้บุคคลอื่นเป็นผู้ลงทุนหรือเก็บค่าบริการจากเขตเศรษฐกิจหรือจากผู้ใช้บริการ หรือจากวิธีอื่นใดก็ได้ แล้วการมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการ มิให้ถือว่าเป็นการร่วมงานหรือดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ แต่ให้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด คือ ยกเว้นพ.ร.บ.ร่วมทุนทั้งหมด แต่ว่าคณะกรรมการนโยบายเป็นคนกำหนดแทนทั้งหมดเลย

[1] มาตรา 16 วรรค 3 : ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติใด ๆ ที่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ให้ถือว่าพนักงานและลูกจ้างของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ
[2] มาตรา 17 (7)
[3] มาตรา 23 วรรค 3 : ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นที่ได้มาโดยการจัดซื้อ เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน หรือที่ได้มาตามมาตรา 29 หรือมาตรา 31 ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเมื่อได้พัฒนาแล้ว ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขตมีอำนาจขาย ให้เช่าซื้อ ให้เช่า หรือแลกเปลี่ยนได้
[4] มาตรา 28 : เมื่อมีกรณีจำเป็นต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ละเขตมีอำนาจดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แต่การจ่ายค่าทดแทนอาจทำโดยวิธีจ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่น หรือด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าทัดเทียมกันก็ได้ ในการนี้จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่คิดว่าจะเวนคืนก่อนก็ได้ และให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
[5]มาตรา 30 วรรค 2 : เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าการและเจ้าหน้าที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผู้ว่าการกำหนดมีอำนาจเข้าไป ครอบครอง พัฒนาหรือใช้ประโยชน์ หรือจัดหาประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตคุ้มครองและรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตอุทยานแห่งชาติได้ตามความจำเป็น แต่ต้องไม่ทำให้สภาพแห่งป่าดังกล่าวต้องเสียหายจนเกินสมควร ทั้งนี้ ตามแผนปฏิบัติการที่ได้จัดทำร่วมกับเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันดังกล่าว ให้เสนอคณะรัฐมนตรีชี้ขาด เมื่อคณะรัฐมนตรีวินิจฉัยเป็นประการใด ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปตามนั้น
[6] มาตรา 31 : เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ละเขตตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้มีผลต่อสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และที่ธรณีสงฆ์ ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดังต่อไปนี้
[7] มาตรา 31 (1) : ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว หรือได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้ว เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ชำระราคาที่ดินให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ตามราคาที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินราคาประเมินเพื่อประโยชน์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกานั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าว และให้ที่ดินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน
[8] มาตรา 31 (2) : ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่พลเมืองยังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่ หรือยังไม่เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษได้จัดที่ดินแปลงอื่นที่มีลักษณะและความสะดวกใกล้เคียงกันให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทนโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกานั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าว และให้ที่ดินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน
[9]มาตรา 31 (3) : ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการ ถ้าทางราชการเลิกใช้หรือยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังตามราคาที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่เกินราคาประเมินเพื่อประโยชน์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกานั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าว และให้ที่ดินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ
[10]มาตรา 31 (5) : ที่ดินอันเป็นที่ธรณีสงฆ์ เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับความยินยอมจากวัด และจ่ายค่าผาติกรรมให้แก่วัดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนดแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตกเป็นของเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยไม่ต้องดำเนินการตราพระราชบัญญัติโอนที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ หรือในกรณีที่วัดประสงค์จะให้เช่าแทนการโอน ก็ให้ดำเนินการเช่าระยะยาวตามระยะเวลาที่กำหนดในมาตรา 26 ได้
[11] มาตรา 32 : เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ละเขตตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว หากภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีการกำหนดผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมืองอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ และผังเมืองนั้นครอบคลุมถึงที่ดินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้ผังเมืองดังกล่าวสิ้นผลบังคับสำหรับที่ดินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ ดำเนินการจัดทำผังเมืองใหม่ตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
[12]มาตรา 33 : ทรัพย์สินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือทรัพย์สินที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเช่ามาเพื่อใช้ในการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลและได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีทรัพย์สิน เว้นแต่ในกรณีที่ให้บุคคลอื่นเช่าหรือเช่าช่วง
เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการลงทุนหรือการประกอบกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ คณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบาย จะลดอัตราภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เรียกเก็บจากทรัพย์สินที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขตลงก็ได้ โดยจะลดให้สำหรับทรัพย์สินทุกประเภท หรือบางประเภท เหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้
[13] มาตรา 34 : บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้มาตามส่วนนี้ ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษและคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทั้งปวง และในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษต้องเสียภาษีเงินได้จากการได้มาหรือการแลกเปลี่ยนซึ่งอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว
ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่นิติบุคคลที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจัดตั้งขึ้นหรือที่เขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาและจำหน่ายหรือเพื่อเพื่อประโยชน์อื่นใดด้วย
[14]มาตรา 59 : ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผู้ใดจะเข้าประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์อื่นในที่ดินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผู้นั้นต้องได้รับอนุญาตและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกำหนด
[15] มาตรา 55 : เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นแล้ว บรรดาอำนาจการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้ง ที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ถือว่ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารด้วย เว้นแต่จะมีระเบียบของคณะกรรมการนโยบายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ เฉพาะการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งที่เกี่ยวกับการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือของผู้ประกอบกิจการ ผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้อยู่อาศัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการบริหารงานภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ในกรณีตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียนหรือรับแจ้งของคณะกรรมการบริหาร เป็นการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ให้นำความในมาตรา 52 วรรคสอง และวรรคสาม และมาตรา 54 มาใช้บังคับกับการดำเนินการตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม
[16] มาตรา 57 : ภายใต้บังคับมาตรา 55 ในกรณีที่เขตพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษทับซ้อนกับพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดหรือบางส่วน และพื้นที่ที่ทับซ้อนนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนมิได้เป็นที่ดินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีอำนาจหน้าที่เหนือพื้นที่ดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ของตน ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ภายในเขตพื้นที่ที่เป็นที่ดินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เขตเศรษฐกิจพิเศษร้องขอ
(๒) ภายในเขตพื้นที่ที่มิได้เป็นที่ดินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเขตเศรษฐกิจพิเศษประสานการดำเนินงานให้สอดคล้องกัน ในกรณีที่มีปัญหาให้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณาวินิจฉัย
[17] มาตรา 56 : ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมาย เห็นว่าการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 51 มาตรา 52 หรือมาตรา 55 ของเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นแจ้งให้เขตเศรษฐกิจพิเศษทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องหรือเหมาะสมต่อไป ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ให้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายวินิจฉัย และเมื่อคณะกรรมการนโยบายวินิจฉัยเป็นประการใดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามนั้น
[18] มาตรา 21 : เมื่อมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในจังหวัดใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการปรับแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ หรือแผนอื่นใดของจังหวัด ให้สอดคล้อง และเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ
[19] มาตรา 58 : ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามวัตถุประสงค์ที่มิใช่การดำเนินการตามมาตรา 52 เขตเศรษฐกิจพิเศษจะมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการหรือจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นดำเนินการแทนก็ได้
การมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการตามวรรคหนึ่ง อาจดำเนินการโดยวิธีจ้าง หรือวิธีให้บุคคลอื่นเป็นผู้ลงทุนและเรียกเก็บค่าใช้บริการจากเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือจากผู้ใช้บริการโดยตรงตามระยะเวลาที่ตกลงกัน หรือวิธีอื่นใดที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เขตเศรษฐกิจพิเศษและผู้ใช้บริการก็ได้
การจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เขตเศรษฐกิจพิเศษจะดำเนินการจัดตั้งขึ้นเองหรือร่วมกับบุคคลอื่น รวมตลอดทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นใดของรัฐ หรือผู้ใช้บริการก็ได้
การมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการตามมาตรานี้ มิให้ถือว่าเป็นการร่วมงานหรือดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

Comments